ในความคิดของใครหลายคนอาจจะคิดว่าการดูแล Palliative Care เหมาะสำหรับการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วหลักและวิธีการดูแลประคับประคองก็มีการนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยเด็กเช่นกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้อธิบายว่า การดูแล Palliative Care ในเด็ก คือการดูแลที่มีผู้ป่วยเด็กและครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคที่คุกคามชีวิต ให้การดูแลอย่างเป็นองค์รวมโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ครอบคลุมไปถึงการดูแลที่บ้านหรือสถานที่ครอบครัวอยู่อาศัย โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กและครอบครัว ช่วยบรรเทาความทุกข์ โดยครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงการดูแลครอบครัวของผู้ป่วยหลังการสูญเสียด้วย
ความแตกต่างระหว่างการดูแลประคับประคองในผู้ป่วยเด็กกับผู้ใหญ่
- สาเหตุการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลประคับประคองมักเสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง แต่ในเด็กนั้นพบว่าการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงทารกแรกคลอดจากภาวะคลอดก่อนกำหนดและภาวะพิการแต่กำเนิด รวมถึงโรคเรื้อรังส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นจากพันธุกรรมและเมตาบอลิกทั้งสิ้น ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแล Palliative Care ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่มีสาเหตุจากการขาดวินัยในการใช้ชีวิต
- การดูแล Palliative Care มีความยากกว่าการดูแลผู้ใหญ่
การดูแลประคับประคองในผู้ป่วยเด็กจะมีความซับซ้อนและต้องใช้ความใส่ใจกว่าผู้สูงอายุ เนื่องจากเด็กยังอยู่ในวัยที่สภาพร่างกายและจิตใจเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้การพยากรณ์โรคยากต่อการคาดเดากว่ากลุ่มผู้สูงอายุ อีกทั้งการดูแล Palliative Care แต่ละช่วงวัยจึงมีความจำเพาะ พัฒนาการและการเรียนรู้แต่ละช่วงวัยเด็กมีการรับรู้ความเข้าใจกับการเจ็บป่วยหรือการตายแตกต่างกันออกไป การสื่อสารกับเด็กและครอบครัวจึงต้องใช้ทักษะเฉพาะ รวมถึงวิธีการดูแลรักษาจะแตกต่างกันออกไปตามช่วงวัยด้วย
- ระยะเวลาการดูแลประคับประคอง
การดำเนินโรคเรื้อรังในผู้ป่วยเด็กและครอบครัวมักต้องการการช่วยเหลืออย่างมากและอยู่ในบริการดูแลประคับประคองนานกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งโดยปกติการดูแล Palliative Care ในผู้ใหญ่อาจกำหนดการเข้าสู่บริการโดยระยะเวลาที่คาดว่าจะเสียชีวิตภายใน 6 เดือน ถึง 1 ปี ในขณะที่ในผู้ป่วยเด็กอาจจะไม่สามารถกำหนดการเข้าสู่บริการด้วยระยะเวลาที่คาดว่าจะเสียชีวิตได้เลย จึงมักจะใช้เกณฑ์การคาดการณ์ระยะเวลาการดูแลประคับประคองจะขึ้นอยู่กับโรคและความต้องการความช่วยเหลือดูแลของผู้ป่วยเด็กครอบครัวแทน
กระบวนการสำคัญในการดูแลประคับประคองในเด็ก
- การประเมินการดูแล Palliative Care ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ เพื่อประเมินความต้องการในการช่วยเหลือให้เหมาะสมกับโรคเรื้อรังและอาการของผู้ป่วยในเด็กแต่ละคน
- วางแผนและดำเนินการประสานการดูแลประคับประคองกับทีมที่เกี่ยวข้อง อย่างทีมแพทย์รักษา ทีมผู้เชี่ยวชาญที่ให้การดูแล Palliative Care และทีมสนับสนุนด้านอื่น ๆ
- การสื่อสารและให้ข้อมูลกระบวนการดูแลประคับประคองเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยเด็กและครอบครัวควรต้องทราบข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจวางแผนกระบวนการดูแล Palliative Care และการรักษาล่วงหน้า ผ่านการประชุมร่วมกันระหว่างทีมแพทย์ พยาบาล และครอบครัวของผู้ป่วย
- การดูแลประคับประคองโดยทีมแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และอื่น ๆ ที่ครอบคลุมเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมาน จากอาการไม่สุขสบายทางกาย เช่น อาการปวด และอาการหอบเหนื่อย บรรเทาความทุกข์ทางใจ ภาระทางสังคม ตลอดจนการดูแลด้านจิตวิญญาณ รวมถึงการดูแลครอบครัวของผู้ป่วยเด็ก
- การดูแลประคับประคองครอบครัวหลังจากผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตแล้ว ในระยะแรกครอบครัวต้องการความช่วยเหลือในการจัดการศพต้องการระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ไม่ต้องการพบเจอผู้คนโดยไม่จำเป็นและไม่ต้องการให้มีการกระทำหรือกิจกรรมใดที่เป็นการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเกี่ยวกับผู้ป่วยเด็กขึ้น จนเมื่อเวลาผ่านไปครอบครัวจะเริ่มยอมรับและทำใจกับการจากไปของผู้ป่วยเด็กได้มากขึ้น สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเริ่มมีการพบเจอผู้คน และรับความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น การเยี่ยมบ้าน หรือการติดต่อเพื่อสอบถามความเป็นอยู่จากบุคลากรทีมสุขภาพ ต้องการช่วยเหลือสังคม และทำตนเองให้เป็นประโยชน์
ไม่ว่าจะเป็นการดูแลประคับประคองในผู้ป่วยเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็ต้องการการดูแลที่ใส่ใจเป็นพิเศษ ต้องใช้ความละเอียดอ่อนอย่างมาก หากครอบครัวใดที่มีผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยเด็ก และต้องการความช่วยเหลือจากทีมผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์การแพทย์ผู้สูงอายุ ยินดีให้บริการ เรามีทีมแพทย์ พยาบาล บ้านพัก สิ่งอำนวยความสะดวก และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ครบครัน พร้อมให้การดูแล Palliative Care ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้สามารถใช้ชีวิตในช่วงวาระสุดท้าย มีชีวิตอย่างมีความสุขอย่างเต็มที่ มาปรึกษาเราและมอบความรักที่มีค่าให้กับคนที่คุณรักร่วมกับเรากันเถอะ