เครื่องช่วยหายใจเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการแพทย์ที่ช่วยในเรื่องการทำงานของปอดและช่วยในเรื่องของการหายใจ โดยที่สามารถเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการช่วยชีวิตหรือยื้อชีวิตในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำการหายใจได้ด้วยตนเอง โดยที่ตัวเครื่องช่วยหายใจจะทำหน้าที่นำอากาศเข้าและออกจากปอดเพื่อที่ร่างกายของผู้ป่วยจะยังได้รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายอย่างเพียงพอ ซึ่งต้องสวมหน้ากากครอบจมูกครอบปากร่วมด้วยเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพของเครื่องช่วยหายใจ หรือในกรณีที่ร้ายแรงกว่านั้นอย่างการที่ผู้ป่วยหายใจด้วยตนเองแทบไม่ได้เลย อาจจะต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจบริเวณคอ (การเจาะคอ) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนโดยตรงที่บริเวณปอด

ผู้ป่วยประเภทใดบ้างที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

การใส่เครื่องช่วยหายใจจะใช้สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจด้วยตนเองลำบากหรือแทบไม่สามารถหายใจด้วยตนเองได้เลย (เรียกว่า “ภาวะหายใจล้มเหลว”) นอกจากนี้ยังมีการใส่เครื่องช่วยหายใจในขณะเข้ารับการผ่าตัดเพื่อควบคุมการหายใจให้เป็นปกติอีกด้วย

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะป่วยฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ นั่นหมายความว่าอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายจะไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่สำหรับการทำงาน และจะทำให้มีการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายมากเกินไป ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปและเติมออกซิเจนเข้ามา อาการป่วยหรือบาดเจ็บที่ส่งผลต่อการหายใจ เช่น 

    • ภาวะหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute respiratory distress syndrome: ARDS)
    • การบาดเจ็บบริเวณศีรษะหรือสโตรก
    • โรคหอบหืด
    • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease: COPD) หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปอด
    • ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest)
    • การเสพยาเกินขนาด
    • ภาวะหายใจลำบากเฉียบพลันหลังคลอดในเด็กแรกเกิด โดยเฉพาะในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด
    • ปอดบวม/ปอดอักเสบ
    • การติดเชื้อในกระแสเลือด
    • การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง, โปลิโอ, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, และโรคอื่นที่มีผลกระทบต่อระบบประสาทและอวัยวะที่ใช้ในการหายใจ
  • การผ่าตัด

สำหรับการผ่าตัด คุณอาจจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจในกรณีที่ได้รับยาสลบ (ตัวยาจะทำให้รู้สึกง่วงนอนและระงับความรู้สึกเจ็บปวด) เพราะยาสลบนี้อาจจะไปรบกวนการหายใจ ดังนั้นการใส่เครื่องช่วยหายใจจะช่วยควบคุมการหายใจของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดให้กลับมาเป็นปกติ

วัตถุประสงค์หลัก ๆ ของการใส่เครื่องช่วยหายใจให้กับผู้ป่วย

  1. เพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนบนของผู้ป่วย
  2. เพื่อช่วยการหายใจ (positive pressure ventilation) ให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้อย่างเหมาะสม
  3. เพื่อป้องกันการสำลักอาหารหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารเข้าสู่ปอด

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใส่เครื่องช่วยหายใจ

  1. การติดเชื้อ: เป็นความเสี่ยงที่พบได้มากที่สุดหลังจากมีการใส่เครื่องช่วยหายใจ เพราะเมื่อมีการใส่ท่อช่วยหายใจจะทำให้มีเสมหะหรือของเหลวในลำคอหรือหลอดลมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้สามารถทำให้เชื้อโรคก่อตัวบริเวณสายของท่อช่วยหายใจ และเชื้อโรคเหล่านี้จะกระจายไปยังปอดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ ในกรณีนี้ผู้ป่วยต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งการติดเชื้อ
  2. การระคายเคือง: อาการระคายเคืองอาจเกิดขึ้นได้ เพราะท่อช่วยหายใจที่ใส่เข้าไปอาจไปถูกับช่องคอหรือปอดทำให้รู้สึกระคายเคือง นอกจากนี้การใส่เครื่องช่วยหายใจยังขัดขวางการไอ ซึ่งเป็นวิธีการกำจัดฝุ่นหรืออาการระคายเคืองบริเวณปอด
  3. ปัญหากับเส้นเสียง: เพราะท่อช่วยหายใจที่ใส่เข้าไปจะผ่านบริเวณกล่องเสียงและเส้นเสียง เป็นสาเหตุว่าผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจพูดไม่ได้เมื่อใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ และท่อช่วยหายใจอาจทำลายกล่องเสียงของผู้ป่วยได้
  4. อาการบาดเจ็บที่ปอด: การใส่เครื่องช่วยหายใจสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ปอดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับออกซิเจนมากเกินไปจนเกิด oxygen toxicity หรือได้รับความกดอากาศในปอดมากเกินไป
  5. หลอดลมตีบ: เป็นภาวะแทรกซ้อนหลังถอดท่อช่วยหายใจ และมักพบในรายที่ใส่ท่อช่วยหายใจไว้นาน ๆ

วิธีเบื้องต้นในการดูแลผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเข้าไปดูแลหรือหลังดูแลผู้ป่วย
  • สำหรับผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจต้องมีการจัดท่านอนที่เหมาะสม เพื่อให้หายใจได้สะดวกโดยการเปลี่ยนท่าทุก ๆ 1 หรือ 2 ชั่วโมง
  • หมั่นตรวจเช็กว่ามีเสมหะอุดตันบริเวณท่อช่วยหายใจของผู้ป่วยหรือไม่
  • ตรวจเช็กรอยต่อต่าง ๆ ของเครื่อง หรือจัดท่อให้ไม่ให้หักพับ รวมถึงการใส่เครื่องช่วยหายใจกับผู้ป่วยว่าแน่นหรือไม่ เพื่อให้เครื่องช่วยหายใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ที่สำคัญต้องตรวจดูด้วยว่าผู้ป่วยได้รับออกซิเจนในปริมาณที่เหมาะสม โดยไม่มากหรือน้อยเกินไป