โรคมะเร็ง เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายและยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดทางร่างกายให้กับผู้ป่วยทั้งจากตัวโรคและการรักษา ความปวดจากมะเร็งพบได้ในทุกระยะของโรค แต่ในระยะสุดท้ายพบความเจ็บปวดถึง 70% จึงทำให้แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดเหล่านี้ให้ทุเลาลง โดยเริ่มตั้งแต่การซักประวัติเพื่อสืบหาลักษณะของอาการปวด สาเหตุที่แน่ชัดของอาการป่วย และประเมินอาการปวดโดยใช้มาตรวัดที่มีสเกลตั้งแต่ 0-10 โดยเริ่มจาก 0 คือ ไม่ปวดเลยไปจนถึง 10 คือ ปวดมากที่สุด และการวัดระดับความปวดนี้ยังมีประโยชน์มากในการประเมินเพื่อดูการเปรียบเทียบหลังการรักษา เพื่อหาแนวทางในการระงับปวดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับผู้ป่วย 

 

สาเหตุของอาการปวดจากมะเร็ง

  • อาการปวดจากก้อนมะเร็ง

เป็นอาการปวดที่เกิดจากมะเร็งโดยตรง ในระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจายและลุกลามไปเบียดหรือกดทับอวัยวะอื่น ๆ เช่น มะเร็งไปกดทับกระดูก เกิดความเจ็บปวดจากการที่เนื้อไปทำลายกระดูก ทำให้กระดูกอ่อนหรือยุบตัวลง ซึ่งเป็นอาการปวดมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุด หรือมะเร็งอาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบจนลามไปกดทับเส้นประสาท ไขสันหลัง หรืออวัยวะภายในต่าง ๆ

  • อาการปวดจากการรักษามะเร็ง

เป็นความปวดที่เกิดจากการรักษา โดยผู้ป่วยมะเร็งหนึ่งคนอาจต้องอาศัยการรักษาหลากหลายรูปแบบ ทั้งการผ่าตัด การทำเคมีบำบัด และการให้รังสีรักษา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวิธีที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยหลังทำการรักษา เช่น ความเจ็บปวดจากการผ่าตัดเต้านมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หรือการให้เคมีบำบัดและการให้รังสีรักษาที่ทำให้เกิดพังผืดไปล้อมข่ายประสาท เกิดเป็นความรู้สึกปวดแสบ ปวดร้อน ตามร่างกายหลังการรักษา

  • อาการปวดจากสาเหตุอื่น ๆ 

เป็นความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นจากโรคทั่วไปแต่ไม่ได้เกิดจากก้อนมะเร็งหรือการรักษา เช่น อาจเกิดแผลกดทับ อาการปวดศีรษะจากความเครียดและความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ภาวัท้องผูก หรืออาการปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ

 

การบรรเทาอาการปวดมะเร็งมีวิธีการแบบใดบ้าง

  1. การรักษามะเร็งเบื้องต้น (primary therapy) ซึ่งได้แก่การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด และการใช้รังสีรักษา
  2. การให้ยาระงับปวด
  3. เทคนิคการทำหัตถการพิเศษเพื่อให้ยาหรือเพื่อบรรเทาความปวด
  4. เทคนิคทางศัลยกรรมประสาท
  5. การทำจิตบำบัด
  6. กายภาพบำบัดและการกระตุ้นเส้นประสาท

 

ชนิดของยาระงับความเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็ง

ชนิดของยาที่ใช้เพื่อรักษาระงับความเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ

  • ยากลุ่ม non-opioid

เป็นกลุ่มยาแก้ปวดเบื้องต้นที่ไม่ใช่มอร์ฟีน ได้แก่ acetaminophen (paracetamol) , aspirin และ NSAIDS ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกระดูก , การลุกลามของมะเร็งไปเยื่อหุ้มกระดูก เอ็น หรือกล้ามเนื้อ ใช้บรรเทาอาการปวดที่ไม่รุนแรง หรือใช้เป็นยาเสริมเพื่อเพิ่มผลระงับปวดของยากลุ่ม opioid 

ผลไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยของ NSAIDS ได้แก่ ภาวะเลือดออกง่ายจากการยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือด , แผลในกระเพาะอาหาร, ไตเสื่อมสภาพ จึงควรระมัดระวังในผู้ป่วยสูงอายุ และควรให้พร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที

  • ยากลุ่ม opioid หรือมอร์ฟีน

เป็นยาแก้ปวดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ปวดปานกลางถึงมากที่สุด ยากลุ่มนี้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาเลือดออกทางเดินอาหาร แต่อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการท้องผูก หรืออาการง่วงซึม การให้ยาจะเริ่มที่ปริมาณยาน้อย ๆ ก่อน และค่อยๆเพิ่มปริมาณ และหากผู้ป่วยต้องให้ยาเป็นเวลานานจะต้องทำการประเมินร่างกายผู้ป่วยก่อน การให้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อติดตามผลอย่างใกล้ชิด

 

อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่งโฮม ให้บริการคลินิกระงับปวดมะเร็งในย่านพระราม 2 หากคุณต้องการรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ปวด ระงับปวดในวาระสุดท้ายเพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรักสามารถติดต่อเข้ามาได้ที่เบอร์ 0994244566

 

ที่มาข้อมูล:

http://medinfo2.psu.ac.th/anesth/education/cancerpain.html

https://www.chulacancer.net/health-tips-view.php?id=571