การรับรู้เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยในตอนแรกนั้นว่ายากแล้ว แต่การต้องรับรู้ว่าโรคร้ายที่เราหรือคนข้างกายกำลังเผชิญอยู่ไม่สามารถรักษาให้หายได้นั้นเจ็บปวดยิ่งกว่า แต่ถึงอย่างไรการดูแลผู้ป่วยให้พบเจอกับสภาวะที่เจ็บปวดน้อยที่สุดก็เป็นสิ่งที่สมควรทำ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้ให้คำนิยามการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายด้วยการประคับประคองอาการนี้ว่า “Palliative Care” หรือ “การรักษาแบบประคับประคอง” ในภาษาไทย หรือในความหมายที่สมบูรณ์ก็คือ การดูแลแบบองค์รวมของบุคคลในทุกช่วงอายุที่มีความทุกข์ทรมานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยที่รุนแรง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ใกล้จะสิ้นสุดชีวิต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแลผู้ป่วย
การตัดสินใจที่จะเข้ารับการรักษาแบบประคับประคองต้องใช้หลายปัจจัยในการพิจารณาก่อนเข้ารับการรักษา หากคุณเองเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคเรื่้อรังหรือญาติของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่กำลังพิจารณาการรับการรักษาแบบประคับประคอง มาลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาแบบประคับประคองและพิจารณาดูว่าตัวคุณเองหรือผู้ป่วยนั้นพร้อมแล้วหรือยังสำหรับการรักษาแบบประคับประคอง
มีตัวเลือกอะไรบ้างในการรับการรักษา?
ถ้าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาในทุกประเภทที่เกี่ยวของกับการเปลี่ยนแปลงสถานะอาการของโรคที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นแล้ว เช่น การเข้ารับการผ่าตัด เป็นต้น หลังจากนั้นควรให้ความสำคัญกับการพักผ่อนและการประคองอาการให้อยู่ในระดับที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบาย และในสถานการณ์เช่นนี้ควรพิจารณาถึงการเข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง โดยระยะเวลาที่ใช้รักษานั้นจะขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยและการรักษาเป็นหลัก
อะไรคือสิ่งที่ตัวผู้ป่วยต้องการ?
ลองพิจารณาถึงการใช้ชีวิตแบบที่ตัวคุณเองหรือผู้ป่วยต้องการ การรักษาแบบประคับประคองนั้นเป็นการรักษาเพียงเพื่อรักษาและบรรเทาอาการเจ็บปวดอันเกิดมาจากโรคร้ายไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยหายขาดและกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติสุข สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในระยะต้นอาจได้รับการพิจารณาให้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือทำเคมีบำบัดที่สามารถช่วยให้หายขาดจากโรคได้แต่มักแลกมาด้วยความเจ็บปวดและทรมานของร่างกาย สำหรับผู้ป่วยบางท่านที่ไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น สามารถเลือกใช้การรักษาแบบประคับประคอง เพื่อช่วยให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้แม้มีอาการเจ็บปวดที่เกิดจากโรคร้ายหรือโรคลุกลาม
ทางเลือกไหนบ้างที่สามารถใช้กับการรักษาแบบประคับประคอง?
สำหรับการดูแลแบบประคับประคองนั้นจะมีเกณฑ์ในการให้บริการอยู่ด้วย โดยทั่วไปผู้ที่เหมาะสมกับการรักษาแบบประคับคอง คือ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายและจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยในระยะอื่น ๆ ก็สามารถเข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อบรรเทาความเจ็บป่วยจากโรคร้ายที่เผชิญอยู่ได้เช่นเดียวกัน ที่อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่งโฮม เอาดูแลผู้ป่วยเพื่อบรรเทาอาการ และความเจ็บปวดที่เกิดจากมะเร็ง โดยไม่ได้เน้นถึงการรักษาเพื่อให้หายขาดจากโรคมะเร็ง แต่เป็นการรักาาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยด้วยการบำบัดด้วยรังสี บำบัดด้วยเคมี การผ่าตัด และการใช้ยา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกสบายยิ่งขึ้นช่วงบั้นปลายของชีวิต
ลักษณะและอาการของความเจ็บป่วยเป็นอย่างไร?
อาการเจ็บป่วยของโรคลุกลาม อย่างมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สามารถเห็นได้ชัดเจนเมื่อการใช้ชีวิตอย่างอิสระของผู้ป่วยถูกรบกวนและร่างกายผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษารูปแบบอื่น ๆ ได้แล้ว นอกจากการประคองอาการให้อยู่แบบคงที่ และผู้ป่วยยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่ในบางครั้งก็มีผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคลุกลามและมีปัญหาสุขภาพหลายอย่างแต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย อย่างเช่น ในกรณีของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยหลายโรครุมเร้าและยังป่วยเป็นมะเร็งด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะสามารถบอกได้ยากว่าจัดเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือไม่ ทำให้หลายคนอาจสับสนว่าเข้าข่ายที่ต้องเข้ารับการรักษาแบบประคับประคองหรือไม่ แน่นอนว่าใช่ เพราะการรักษาแบบประคับประคองสามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากอาการป่วยให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้เช่นกัน
การรักษาแบบประคับประคองเท่ากับการยอมแพ้ใช่หรือไม่?
คำถามสุดท้ายที่หลาย ๆ คนเองก็ต้องสงสัย ว่าหากเราเลือกที่จะรักษาแบบประคับประคองเท่ากับเราเลือกที่จะยอมแพ้ให้กับโรคร้ายแล้วใช่หรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่เลย เพราะเป้าหมายของการดูแลแบบประคับประคองคือการทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสะดวกสบายและได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด และคุณยังสามารถที่จะรับการรักษาแบบประคับประคองไปพร้อม ๆ กับรับการรักษาแบบอื่น ๆ ที่ช่วยย้อนผลของอาการเจ็บป่วยได้อีกด้วย ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว การรักษาแบบประคับประคองสามารถช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับการรักษาที่ส่งผลรุนแรง โดยช่วยควบคุมความเจ็บปวดและอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของทีมผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญและต่อสู้กับโรคร้ายไปได้เรื่อย ๆ
ที่มาข้อมูล: