การใส่สายสวนปัสสาวะ คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? หรือเหมาะกับใครบ้าง? เราเชื่อว่าเป็นคำถามที่หลายคนเองก็สงสัย ซึ่งการใส่สายสวนปัสสาวะมักจะพบเจอได้จากหลากหลายกรณี เช่น กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะติดขัด มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ หรือต้องเข้ารับการผ้าตัด เป็นต้น

ซึ่งการใส่สายสวนปัสสาวะ (Urinary catheterization) หมายถึง การที่แพทย์หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญจะทำการสอดใส่สายสวนปัสสาวะที่เรียกว่า catheter ผ่านทางท่อปัสสาวะเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ด้วยวิธีการที่ปราศจากเชื้อ เพื่อระบายปัสสาวะออกสู่ภายนอก ทำให้กระเพาะปัสสาวะว่าง ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านมารู้จักกับการใส่สายสวนปัสสาวะว่าสามารถทำได้ในกรณีใดบ้าง มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร และการใส่สายสวนปัสสาวะนั้นมีกี่แบบ อะไรบ้าง

จะทำการใส่สายสวนปัสสาวะในกรณีใดได้บ้าง

  • กรณีที่ผู้ป่วยที่ประสบปัญหาถ่ายปัสสาวะลำบากหลังการผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดมีการกระทบกระเทือนบริเวณบริเวณอุ้งเชิงกราน  หรือเนื่องจากฤทธิ์ของยาสลบ และ/หรือ ความวิตกกังวลทางจิตใจที่ยับยั้งการคลายตัวของหูรูดกระเพาะปัสสาวะ
  • กรณีที่ผู้ป่วยปัสสาวะไม่ออกเนื่องจากการปิดกั้นทางระบายปัสสาวะเช่น ในผู้ป่วยสูงอายุชายที่มีอาการต่อมลูกหมากโต หรือการเป็นอัมพาต ที่ทำให้สูญเสียระบบประสาทควบคุม
  • กรณีที่ปัสสาวะไม่ออก และมีบริเวณหัวเหน่าโป่งสามารถตรวจเจอได้ด้วยการคลำ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีปัสสาวะกระปริบกระปรอยและมีความรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะตลอดเวลา
  • กรณีที่ใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อประเมินการทำงานของไต ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดใหญ่ หรืออยู่ภาวะช็อก
  • กรณีที่ใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อน/ติดเชื้อในผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวหรือมีแผล ขนาดใหญ่ ทั้งที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และที่ก้น

วัตถุประสงค์ของการใส่สายสวนปัสสาวะ คือ?

  1. เพื่อเป็นการระบายปัสสาวะ ในผู้ป่วยที่มีปัสสาวะคั่งในกระเพาะปัสสาวะ ไม่สามารถปัสสาวะออกมาได้ด้วยตนเอง หรือปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะไม่ทำหน้าที่ตามปกติ
  2. เพื่อการผ่าตัด เป็นการช่วยเหลือลดอาการเจ็บปวดจากการผ่าตัด
  3. เพื่อการรักษา เช่น ใช้รักษาอาการเลือดออกในระบบปัสสาวะ หรือกรณีที่มีการอุดตันเฉียบพลัน 

 

การใส่สายสวนปัสสาวะมีกี่ประเภท? 

ประเภทที่ 1 – ใส่สายปัสสาวะสวนคาชั่วคราว

เป็นการใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อแก้ปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะเพียงชั่วคราว หากทำการรักษาและแก้ปัญหาทางเดินปัสสาวะได้แล้วสามารถเอาสายสวนออกได้

ประเภทที่ 2 – ใส่สายปัสสาวะสวนคาตลอดชีพ

เป็นการใส่สายสวนปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต ซึ่งสูญเสียระบบประสาทควบคุม ไม่สามารถรับรู้และควบคุมระบบทางเดินปัสสาวะของตนเองได้ ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลสำหรับผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือการเกิดอาการแทรกซ้อนจากการคาสายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน

ประเภทที่ 3 – ผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะเฉพาะเวลาที่ต้องการระบายปัสสาวะออก

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ อาทิ ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไหลออกโดยไม่รู้ตัว แต่ไม่ต้องการคาสายสวนปัสสาวะ หรือไม่สามารถคาสายสวนปัสสาวะได้ ก็สามารถทำการสวนปัสสาวะแบบสะอาดเป็นครั้งคราวได้เช่นกัน ซึ่งคนไข้บางรายสามารถทำการสวนปัสสาวะได้ด้วยตนเอง ส่วนบางคนก็ต้องให้ผู้อื่นทำให้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องได้รับการสอนทุกขั้นตอนอย่างถูกต้อง รวมถึงดูแลอุปกรณ์ที่ใช้ให้ปลอดเชื้อทุกครั้ง เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงมาก

 

จะเห็นได้ว่าการใส่สายสวนปัสสาวะนั้นมีความสำคัญและเป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมีการใส่สายสวนก็อาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อและการเกิดโรคแทรกซ้อนให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอและมีโรคประจำตัวรุมเร้า ผู้ดูแลยิ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใส่ใจและทุ่มเทเวลาเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่คุณรัก แต่ถ้าหากคุณไม่มีเวลาและไม่มั่นใจว่าตนเองจะดูแลท่านได้ดีพอ สามารถเข้ามารับบริการได้ที่การดูผู้ป่วย ผู้สูงอายุโดยผู้เชี่ยวชาญ ได้ที่อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่ง โฮม