การดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์ด้วยการฟื้นฟูร่างกายนั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะอาการป่วยเป็นอัมพฤกษ์ นั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก มาดูกันว่าการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วยต้องทำอย่างไรบ้าง?

อาการอัมพฤกษ์ อัมพาตมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง?

อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต คือ อาการที่ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต สามารถแสดงอาการได้ไม่ว่าจะเป็นอาการอัมพฤกษ์ครึ่งซีก อัมพฤกษ์ครึ่งท่อน อัมพาตแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือเกิดอาการอัมพาตบริเวณกล้ามเนื้อใบหน้า แล้วแต่อาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยที่สาเหตุในการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตเองก็สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง  (Spinal cord injury) ซึ่งอาจทำให้เกิดอัมพาตครึ่งท่อน  (Paraplegia) หรืออุบัติเหตุที่สมอง ( Brain injury) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอัมพาตแขนขาทั้งสองข้าง  (Quadriplegia) แต่สาเหตุโดยส่วนใหญ่คือผู้ป่วยมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตซึ่งเป็นผลมาจากโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ทำให้สมองขาดเลือดไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ส่งผลให้สมองตายหรือไม่สามารถทำงานได้ หรืออีกประเภทหนึ่ง คือ ผู้ที่หลอดเลือดในสมองแตก ทำให้สมองได้รับความเสียหายจากเลือดที่ไหลซึมออกมาไปเบียดเบียนเนื้อสมอง ทำให้กล้ามเนื้อสมองไม่สามารถทำงานได้ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงหลอดเลือดในสมองตีบหรืออุดตันซึ่งคิดเป็น 70-80% ของสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต มักมาจากปัจจัย เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยหลอดเลือดสมองแตกมักพบในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ภาวะความเครียด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

อาการอัมพฤกษ์ อัมพาตส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ป่วยอย่างไร?

สภาพจิตใจของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต มักถูกกระทบกระเทือนจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจนเกินตั้งรับไหวของผู้ป่วย จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคทางสมองมักมีความกังวลจากการสูญเสียสมรรถภาพไปโดยไม่ทันคาดคิด ทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการภาวะซึมเศร้า ขาดการควบคุมอารมณ์ ทำให้โกรธง่าย หงุดหงิดง่าย ขึ้นอยู่กับพื้นฐานและภาวะของโรคในผู้ป่วยแต่ละบุคคล นอกจากนี้สภาพเศรษฐกิจ  สังคม และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายเกิดความวิตกกังวลและสภาวะซึมเศร้าหนักขึ้นอีกด้วย

สามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจและดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตได้อย่างไรบ้าง?

การดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตที่ดีคือการดูแลควบคู่กันไปทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจ ไม่แปลกที่ในช่วงแรกจะมีการเน้นไปที่การดูแลในเรื่องของสภาพร่างกายเป็นหลัก เพราะเป็นปัญหาที่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกและในบางครั้งยังส่งผลต่อเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิต แต่ในบางครั้งผู้ดูแลอาจมองข้ามปัญหาทางด้านสภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งปัญหาที่มากระทบทางด้านจิตใจเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้โรคหลอดเลือดสมองและอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตของผู้ป่วยแย่ลงได้หากไม่ดูแลให้ดี

  1. กำลังใจจากคนในครอบครัว – เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยเพียงเล็กน้อยหรือเป็นอาการของโรคร้าย ผู้ป่วยย่อมสูญเสียกำลังใจและกำลังใจที่สำคัญที่สุดที่พวกเขาต้องการ คือ กำลังใจจากคนที่รัก แต่การให้กำลังใจผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตควรให้กำลังใจตามความเป็นจริง ไม่ใช่การให้ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ กับผู้ป่วย
  2. ทำความเข้าใจกับอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วยที่เปลี่ยนไป – การเผชิญหน้ากับอาการป่วยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ป่วยไปโดยสิ้นเชิง ผู้ดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์จึงต้องเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจและรับมือกับสภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล หรือผู้ป่วยบางรายอาจแสดงออกมาในรูปแบบของอารมณ์ที่ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย หากสามารถทำความเข้าใจและรับมือกับอารมณ์ของผู้ป่วยได้ก็จะเป็นการปกป้องตัวของผู้ดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์จากความเครียดสะสมจากการดูแลผู้ป่วยด้วยเช่นกัน
  3. จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้ป่วย – สิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูและปลอบประโลมจิตใจของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ คือ การที่ให้พวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งผู้ดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์มีหน้าที่ในการจัดสิ่งแวดล้อมในสถานที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมต่อการอยู่ร่วมกันและทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างคนในครอบครัวและผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าถึงแม้ตนเองจะป่วยแต่ยังสามารถทำกิจกรรมและมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมได้เหมือนเดิม ช่วยให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตัวเองและสร้างกำลังใจสำหรับการรักษาตัวและปฏิบัติตามที่แพทย์ผู้ดูแลสั่ง