จากการสืบค้นฐานข้อมูลและงานวิจัยจนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานข้อมูลพิสูจน์ว่า โรคเกี่ยวกับระบบประสาทอย่าง โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง และโรคความจำเสื่อม มีโอกาสในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันว่ายารักษาโรคทางระบบประสาทจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเนื่องจากส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีอาการความจำเสื่อมมักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอกว่าคนหนุ่มสาว จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ง่ายกว่ากลุ่มคนอายุน้อย อีกทั้งหากป่วยแล้วอาการจะมีความรุนแรงกว่า บางรายอาจเสี่ยงถึงชีวิตได้เลย ดังนั้นบทความนี้ อายุวัฒน์ ศูนย์การแพทย์ผู้สูงอายุ จะมาช่วยแนะนำวิธีดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในช่วงโควิด-19 ระบาด มีวิธีการอย่างไรบ้างมาดูกันเลย

  1. สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

ผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เนื่องจากผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมบางรายจะมีสภาพอารมณ์ที่แปรปรวน ไม่ชอบการสวมใส่หน้ากาก หงุดหงิดและโมโหง่าย จึงเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อมที่ต้องป้องกันตัวเองเบื้องต้น ไม่ให้ตัวเองติดเชื้อและไปแพร่เชื้อกับผู้ป่วยต่อไป

  1. ย้ำเตือนผู้ป่วยความจำเสื่อมเรื่องสุขอนามัยที่ดี

ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมอาจหลงลืมดูแลตัวเอง บางรายที่ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเองได้ ผู้ดูแลควรต้องย้ำเตือนเรื่องสุขอนามัยที่ถูกต้อง อาจใช้วิธีการติดป้ายเตือน และค่อย ๆ สอนให้ผู้ป่วยความจำเสื่อมปฏิบัติตามไปพร้อม ๆ กับผู้ดูแลด้วย

  1. หมั่นทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้อยู่เสมอ

ครอบครัวและผู้มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ควรหมั่นทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน รวมถึงห้องพักอาศัยของผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมให้สะอาด ปลอดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งวิธีการทำความสะอาดก็เหมือนวิธีทำความสะอาดทั่วไป เพียงแต่ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อร่วมด้วยเท่านั้น

  1. ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมก็รับวัคซีนได้

ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมก็สามารถรับวัคซีนเพื่อป้องกันและลดอาการของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เช่นกัน ซึ่งครอบครัวและคนดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ควรปรึกษาแพทย์ให้เรียบร้อยก่อนพาผู้ป่วยไปรับวัคซีน เพราะผู้ป่วยความจำเสื่อมบางรายอาจมีอาการเสี่ยงอื่น ๆ ที่ส่งผลร่วมกับผลข้างเคียงของตัววัคซีนด้วย ควรเช็กสุขภาพของผู้ป่วยให้พร้อมก่อน แล้วจึงพาไปฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  1. หากิจกรรมเสริมทักษะและผ่อนคลายสภาพจิตใจ

ไม่เพียงแต่คนดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์เท่านั้น แต่ผู้ป่วยความจำเสื่อมก็อาจจะรู้สึกเครียด เป็นกังวล และซึมเศร้า เนื่องจากการกักตัวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ดังนั้นทั้งตัวคนดูแลและผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมควรต้องรับการประเมินภาวะทางจิตใจ และหมั่นสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงในตัวผู้ป่วยด้วย เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีการสับสน และเห็นภาพหลอนจากการที่ต้องกักตัวเป็นเวลานาน ๆ จึงควรหากิจกรรมเสริมทักษะทางด้านสมองให้ทำที่บ้าน หรือออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย เป็นต้น

  1. หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง

หลีกเลี่ยงการพาผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมไปในสถานที่แออัด หรือสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ครอบครัวและผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจใช้วิธีการนัดพบแพทย์แบบออนไลน์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารออนไลน์แทนการพบปะกับลูกหลานที่ห่างไกล เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวผู้ป่วยความจำเสื่อม และบุคคลอื่น ๆ ด้วย

  1. หมั่นสังเกตอาการและดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างใกล้ชิด

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การพบแพทย์อาจเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร ดังนั้นครอบครัว และคนที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ควรต้องหมั่นสังเกตอาการผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม จดบันทึกอาการ และลักษณะพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยแสดงออก เพื่อที่จะแพทย์จะได้วินิจฉัยอาการ และทำการรักษาผู้ป่วยความจำเสื่อมได้อย่างถูกต้องที่สุด

การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากจะทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจแล้ว ยังสามารถส่งผลต่ออาการทางระบบประสาทได้หลากหลายแบบด้วย ซึ่งอาการดังกล่าวส่วนใหญ่แล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ หากครอบครัวหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ท่านใด พบว่าตัวเองและผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมที่ดูแลอยู่ มีอาการป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ควรรีบนำตัวส่งแพทย์ และปรึกษาเพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยทันที

สำหรับท่านใดที่พบว่าตัวเองไม่มีความชำนาญ และไม่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ สามารถขอใช้บริการ อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์การแพทย์ผู้สูงอายุ ได้ เรามีทีมแพทย์ และพยาบาลมืออาชีพพร้อมให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ด้วยความรักและความเอาใจใส่ตลอด 24 ชั่วโมง รับรองคนที่คุณรักจะรู้สึกแฮปปี้ สุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจแน่นอน