การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเคมีในสมองทำให้รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้น บุคคลทั่วไปจึงควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 – 5 วันต่อสัปดาห์ แต่สำหรับวัยสูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะร่างกายและสมรรถภาพที่เริ่มเสื่อมถอย การออกกำลังกายจึงเป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและปัญหาอื่นที่อาจตามมา

ประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ

  1. ชะลอการเสื่อมของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

การออกกำลังกายจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือด ปอด หัวใจทำงานดีขึ้น ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ ช่วยชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. รักษาและต้านทานโรคบางชนิด

การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและถูกวิธีจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดลดลง อีกทั้งช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง

  1. ช่วยในการทรงตัว

การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ข้อต่อต่าง ๆ ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อกลุ่มต่าง ๆ ประสานงานกันได้ดี นำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สามารถทรงตัวได้ดียิ่งขึ้น ป้องกันอาการข้อยืดติด

  1. สุขภาพจิตดี แจ่มใส่

นอกจากสุขภาพกายแล้ว การออกกำลังกายจะช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วยเนื่องจากเป็นการกระตุ้นการหลั่งสารในสมอง ช่วยผ่อนคลายความเครียด ไม่ซึมเศร้า ไม่วิตกกังวล สุขภาพจิตดีขึ้นและนอนหลับสบาย

  1. ส่งเสริมการเข้าสังคม

หากผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายตามสวนสาธารณะหรือสวนสุขภาพจะทำให้ได้พบปะเพื่อนใหม่และเป็นการส่งเสริมการเข้าสังคม ลดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ และได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ใหม่ ๆ

  1. ใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

การออกกำลังกายช่วยให้ผู้สูงอายุเดิน ลุก นั่ง ขยับเขยื้อนร่างกายได้คล่องแคล่วยิ่งขึ้น ลดอัตราการหกล้ม และยังสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้เป็นปกติหรือลดความลำบากในการทำกิจกรรมเหล่านั้นลงได้ เนื่องจากการมีกล้ามเนื้อและร่างกายที่แข็งแรงมากขึ้น

 

รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ

  1. การเดินหรือวิ่งเหยาะ ๆ

รูปแบบการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยม สามารถเลือกออกกำลังกายได้ทั้งในสวนสาธารณะหรือบนสายพาน โดยควรเริ่มจากการเดินช้า ๆ ให้ร่างกายได้ปรับสภาพแล้วจึงเพิ่มความเร็วเป็นการเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะ ๆ แต่ไม่เหมาะสำหรับสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่าหรือข้อเท้า

  1. ว่ายน้ำหรือเดินในน้ำ

การว่ายน้ำหรือเดินในน้ำช่วยลดแรงกระแทกระหว่างข้อต่อกับพื้นแข็ง เพราะน้ำจะช่วยพยุงน้ำหนักทำให้แรงกดลงบนเข่าลดลง และเพิ่มแรงต้านในการเดิน จึงช่วยฝึกกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายและฝึกการหายใจอย่างเป็นระบบได้ และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับสำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม

  1. กายบริหาร

เป็นการบริหารร่างกายที่มีท่าฝึกหลากหลาย สามารถบริหารได้ทุกสัดส่วน ซึ่งจะช่วยฝึกการทรงตัว ความอดทน ความยืดหยุ่นของข้อต่อต่าง ๆ ไปจนถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

  1. รำมวยจีน

รำมวยจีนเป็นการเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ที่จะช่วยฝึกความอดทน ความแข็งแรง ความยึดหยุ่น ฝึกการทรงตัว และช่วยรักษาสมดุลยภาพร่างกาย ได้ฝึกจิตและผ่อนคลาย และยังทำให้ผู้สูงอายุได้เข้าสังคมมากขึ้น เนื่องจากจะเป็นการร่วมออกกำลังกายเป็นกลุ่ม

  1. โยคะ

เป็นการออกกำลังกายที่ส่งผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ความแข็งแรง โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ และข้อต่อต่าง ๆ อีกทั้งเป็นการฝึกสมาธิไปในตัว

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนการเริ่มออกกำลังกาย ผู้สูงอายุควรสำรวจสภาพร่างกายของตนเองว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด หากเป็นไปได้ ควรเข้าพบแพทย์ประจำตัวเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม และควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว

ศูนย์การแพทย์อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ พระราม2 ให้บริการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งครอบคลุมถึงบริการจัดอาหารตามหลักโภชนาการของผู้สูงอายุตามข้อจำกัดเป็นรายบุคคล ร่วมกับการส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การออกกำลังกายและกิจกรรมสันทนาการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย พร้อมมอบการดูแลด้านจิตใจและอารมณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยรู้สึกเหงาหรือรู้สึกโดดเดี่ยวภายในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ออกแบบและตกแต่งภายในเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ สะดวก ปลอดภัย กว้างขวาง เป็นธรรมชาติ ร่มรื่น ผ่อนคลายภายใต้มาตรฐานศูนย์ดูแลผู้สูงอายุราคาถูกระดับสากล