โรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ เป็นโรคร้ายเรื้อรังที่พบในกลุ่มผู้สูงอายุและอาจเป็นโรคร้ายที่คนหนุ่มสาวและวัยกลางคนหลายคนกังวล แต่เชื่อหรือไม่ว่า หากเพียงแค่คุณปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ก็สามารถลดความเสี่ยงในการป่วยความจำเสื่อมได้แล้ว ดังนั้นบทความนี้ อายุวัฒน์ ศูนย์การแพทย์ผู้สูงอายุ จะมาช่วยแนะนำเคล็ดลับในการดูแลตัวเอง ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างไรจึงจะเหมาะสม หลีกเลี่ยงการป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมได้ รวมถึงหากคุณมีหน้าที่กำลังดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่พึ่งเริ่มแสดงอาการ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อชะลออาการของผู้ป่วยลงได้เช่นกัน จะมีวิธีใดบ้างมาดูกันเลย

  1. ควบคุมน้ำหนักและดูแลสุขภาพหัวใจ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และโรคเบาหวานเกี่ยวอะไรกับอาการความจำเสื่อม ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่าโรคอ้วนและโรคเบาหวานนั้นมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์จริง เพราะภาวะการดื้ออินซูลินในโรคเบาหวานนั้นสามารถทำลายและยับยั้งการสื่อสารระหว่างเซลล์สมองได้ ทำให้การทำงานของสมองเสื่อมประสิทธิภาพลง และเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคความจำเสื่อม ดังนั้นทางที่ดีทุกคนควรควบคุมการกินและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยิ่งในกรณีของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่มีอาการเบาหวานร่วมด้วยแล้ว ผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ยิ่งต้องควบคุมดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ป่วยมีปัญหาด้านความจำ อาจรับประทานอาหารไม่ถูกต้องจนทำให้อาการหนักขึ้นได้

  1. หูคืออวัยวะสำคัญเสี่ยงต่ออาการความจำเสื่อม

หากไม่ต้องการป่วยเป็นโรคความจำเสื่อม ควรหมั่นดูแลสุขภาพหูและการรับฟังให้ดี เพราะการที่เรามีอาการหูตึงหรือหูได้ยินไม่ชัดเจน จนทำให้กระบวนการรับรู้เสียงของเราเสื่อมประสิทธิภาพลง สมองที่ทำหน้าที่ในการแปลงเสียงเป็นความหมายต่าง ๆ จะค่อย ๆ ถูกปิดกั้น ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาของสมอง นับเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ดังนั้นใครที่ทำงานในที่เสียงดังหรือเปิดเพลงเสียงดัง ควรหลีกเลี่ยงและเบาลงบ้างเพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต สำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการความจำเสื่อม ผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็ควรต้องดูแลสุขภาพหูและการได้ยินของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เพราะปัญหาการรับฟังสามารถส่งผลต่อปัญหาด้านการสื่อสารของผู้ป่วยได้เช่นกัน

  1. ออกกำลังกายลดเสี่ยงอัลไซเมอร์

ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม แต่โดยเฉพาะวัยกลางคนและผู้สูงอายุควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้หัวใจได้เต้นแรง เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย เพราะอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 65 ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด จะทำให้ร่างกายแข็งแรง สมองแจ่มใส สามารถลดอาการเสี่ยงความจำเสื่อมได้ ซึ่งการออกกำลังกายในคนปกติแล้วควรทำให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ แต่ในกรณีของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ การออกกำลังกายควรเป็นการออกกำลังกายอย่างเบา ๆ เท่านั้น เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ยืดเส้นยืดสาย เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองเพื่อชะลออาการสมองเสื่อม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการออกกำลังในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ ทีมผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และนักกายภาพบำบัด เท่านั้น

  1. รักษาความสัมพันธ์ทางสังคม

การมีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่ม เช่น การเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ดูแลเด็กในบ้านเด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกับเพื่อนฝูง ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้ตื่นตัวและทำงานได้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการลดอาการเครียด ทำให้สมองมีชีวิตชีวา มีสุขภาพจิตที่แจ่มใส ลดอาการเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมได้ สำหรับในกรณีของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่อาการไม่หนักมาก การดูแลให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและผู้อื่นบ้าง เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้สื่อสารพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง กระตุ้นความจำ ชะลออาการความจำเสื่อมได้ดี

  1. การเดินทางท่องเที่ยวลดเสี่ยงโรคความจำเสื่อมได้จริง

วัยกลางคน ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่ยังมีอาการไม่หนักมาก ครอบครัวควรหาเวลาหยุดพักผ่อน ไปเดินทางท่องเที่ยวกันบ้าง ซึ่งนอกจากการท่องเที่ยวจะช่วยดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้ลดอาการเสี่ยงต่อการเป็นซึมเศร้าแล้ว ยังช่วยลดอาการเครียด ช่วยให้สมองได้ปลอดโปร่ง ลดอาการอาละวาด และอารมณ์แปรปรวนได้ดีเช่นกัน สำหรับบุคคลทั่วไป การท่องเที่ยวนอกจากกิจกรรมสำหรับพักผ่อนลดเครียดแล้ว ยังถือเป็นการเปิดโลกใหม่ กระตุ้นสติปัญญา การคิดบวกและความคิดสร้างสรรค์ได้ดีอีกด้วย ถือเป็นยาวิเศษกระตุ้นให้สมองการทำงานได้ดี ลดความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมได้จริง

โรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่คุณสามารถป้องกันและชะลออาการความจำเสื่อมได้ เพียงแค่เริ่มต้นปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หมั่นบริหารสมอง ดูแลสุขภาพกายและใจให้สดใส เพียงเท่านี้ก็มีโอกาสลดความเสี่ยงในการป่วยเป็นอัลไซเมอร์และโรคร้ายอื่น ๆ ได้แล้ว สำหรับท่านใดที่กำลังมองหาผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ สามารถปรึกษาและใช้บริการ อายุวัฒน์ ศูนย์การแพทย์ผู้สูงอายุ ได้ ที่นี่เรามีเครื่องมือที่ทันสมัย ทีมแพทย์และพยาบาลพร้อมให้การดูแลคนที่คุณรักตลอด 24 ชั่วโมง บริการด้วยใจและพร้อมดูแลคนที่คุณห่วงใยเปรียบเสมือนคนในครอบครัว

 

ข้อมูลโดย

พ.ญ. ปภาดา ลิมาวงษ์ปราณี

พ.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย