ผู้ป่วยติดเตียงเองก็มีกิจวัตรประจำวันไม่ต่างจากคนทั่วไป เพียงแต่ผู้ป่วยติดเตียงนั้นไม่สามารถขยับร่างกายได้สะดวกมากนักหรือในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงก็อาจไม่สามารถขยับตัวได้เลย จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้ดูแลมาที่คอยทำหน้าที่ดูแลกิจวัตรประจำวันให้กับผู้ป่วยอีกทอดหนึ่ง วันนี้ อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่ง โฮม จึงอยากที่จะมาให้ความรู้ว่าในฐานะผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง คุณจะสามารถดูแลกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยอย่างเหมาะสมได้อย่างไรบ้าง

 

สิ่งที่ต้องดูแลในกิจวัตรประจำของผู้ป่วยติดเตียง

1.การรับประทานอาหาร

หนึ่งเรื่องสำคัญของการดูแลผู้ป่วยติดเตียง คือ การฝึกให้ผู้ป่วยกลืนอาหาร เพราะผู้ป่วยติดเตียงจะต้องเจอกับภาวะกลืนลำบากที่ทำให้ผู้ป่วยอาจสำลักในขณะรับประทานอาหาร ซึ่งการสำลักอาหารนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะหากอาหารเข้าไปอุดกั้นบริเวณสำคัญอย่างทางเดินหายใจนั้น ความรุนแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้หากช่วยเหลือผู้ป่วยได้ไม่ทัน คือ อันตรายถึงชีวิต ดังนั้นการฝึกกลืนจึงเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงต้องทำ โดยมีคำแนะนำในการดูแลผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากและป้องกันการสำลักอาหาร ดังนี้

  • ปรับอาหารให้เหมาะสมกับการฝึกกลืน โดยเลือกอาหารที่มีลักษณะข้นหนืด มีน้ำจากเนื้ออาหาร รสชาติไม่จัดเกินไป เช่น กล้วยบด มันบด โจ๊กปั่น แต่ให้ในปริมาณน้อยก่อนเพื่อดูว่าผู้ติดเตียงสามารถกลืนได้หรือไม่
  • ถ้ามีสายให้อาหารควรใช้อาหารฝึกกลืนก่อนให้อาหารทางสาย 1 ชั่วโมง แล้วก้มคอบ้วนปากให้สะอาด
  • ขณะทานอาหาร ไม่ควรเคร่งเรื่องมารยาท และหมั่นพูดคุยให้ตื่นตัว
  • ไม่รีบป้อนอาหารขณะฝึกกลืน
  • ควรให้ผู้ป่วยก้มคอขณะกลืนอาหารที่ป้อน ห้ามแหงนคอไปด้านหลัง และหยุดป้อนทันทีหากมีอาการสำลัก
  • ขณะรับประทานอาหารผู้ป่วยต้องนั่งให้หัวสูงหรือปรับเตียงขึ้นมาในระดับ 30-90 องศา
  • หากจะบดยาผู้ป่วยเพื่อใส่ลงในอาหารที่ฝึกกลืนควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะยาบางชนิดเป็นแบบแตกตัวในลำไส้ (enteric-coated) หากบดยาตั้งแต่ก่อนลงท้องอาจทำให้ปริมาณยาที่ผู้ป่วยได้รับสูงจนเกินไปได้
  • ก่อนฝึกกลืนอาหารจริง ให้ฝึกผู้ป่วยโดยการปรับเตียง 45-90 องศา จับลุกนั่งบนเตียง ฝึกหายใจเข้าทางจมูก- เป่าปาก 3 ครั้ง + หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ 3 ครั้งเพื่อเปิดช่องคอให้ง่ายต่อการกลืนอาหาร
  • หรือปรับเตียง 45-90 องศา จับลุกนั่งบนเตียง ให้หลับตา ขมวดคิ้ว ย่นจมูก 3 ครั้ง + ทำปากจู๋สลับกับสบฟัน 3 ครั้ง + ก้มคอกลืนน้ำลาย ไอ 1 ครั้ง ร้องอาอูโอดังๆ 1 ครั้ง แล้วฝึกกลืน

 

2.ความสะอาดของร่างกาย

ผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องมีการทำความสะอาดร่างกายเช่นเดียวกับคนทั่วไป และผู้ป่วยติดเตียงก็ไม่สามารถลุกไปอาบน้ำในห้องน้ำได้ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงทำการเช็ดตัวให้ผู้ป่วย รวมถึงการทำความสะอาดบริเวณอื่น ๆ เช่น บริเวณช่องปาก เป็นต้น วิธีการทำความสะอาดร่างกายของผู้ป่วยติดเตียงนั้น สามารถทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำเพียงอย่างเดียวหรือจะใช้ผ้าชุบสบู่ก็ได้ แต่หากมีการใช้ผ้าชุบสบู่เช็ดตัวให้กับผู้ป่วยก็ต้องมีการเช็ดด้วยน้ำเปล่าซ้ำเพื่อความสะอาดด้วย ก่อนลงมือเช็ดตัวให้ผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงควรปูผ้ายางกันเปียกลงบนที่นอนเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ที่นอนเปียกชื้นหลังจากทำความสะอาดร่างกายของผู้ป่วยเสร็จ 

 

หลังจากเช็ดตัวให้ผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว ควรทาแป้งเพื่อลดผดผื่นให้กับผู้ป่วยติดเตียง หรืออาจทาโลชั่นสูตรอ่อนโยนให้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีผิวแห้ง นอกจากนี้ยังต้องหมั่นตัดเล็บมือและเล็บเท้าให้ผู้ป่วยเสมอ นอกจากนี้ก็อาจจะมีการสระผมเพิ่มเติมที่อาจจะต้องใช้อุปกรณ์เสริมอย่างกะละมังหรืออ่างสระผมสำเร็จรูปเข้ามาช่วย เพื่อป้องกันไม่ให้ฟองหรือน้ำเข้าตาผู้ป่วย และอย่าลืมเป่าผมให้แห้งสนิททุกครั้งหลังสระเพื่อป้องกันการเกิดรังแคและความคันที่สร้างความรู้สึกรำคาญใจให้กับผู้ป่วยติดเตียง ขอแนะนำให้ตัดผมผู้ป่วยให้สั้นพอเหมาะเพื่อความสะดวกในการดูแลเส้นผมและหนังศีรษะของผู้ป่วย

 

3.ความสะอาดในเรื่องการขับถ่าย

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของผู้ป่วยติดเตียง คือ ความลำบากในเรื่องการขับถ่าย เพราะผู้ป่วยไม่สามารถลุกเดินไปทำธุระส่วนตัวอย่างการขับถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระได้ ซึ่งทำให้ทั้งสองสิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้นบนเตียงทั้งหมด ผู้ป่วยติดเตียงบางท่านจำเป็นจะต้องมีการใช้สายสวนปัสสาวะหรือถุงเก็บปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยสามารถขับถ่ายได้สะดวกไม่ต้องรอผู้ดูแลเอากระเปาะปัสสาวะหรือกระโถนมารองให้อย่างเดียว ที่สำคัญคือไม่สกปรกเลอะเทอะ ทำให้ผู้ป่วยมีสุขอนามัยที่ดีขึ้นด้วย แต่ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงก็ต้องคอยตรวจตราว่าถุงปัสสาวะของผู้ป่วยนั้นเต็มหรือยัง และต้องหมั่นทำความสะอาดสายสวนปัสสาวะอยู่เสมอและเมื่อนำถุงปัสสาวะมาใช้งานกับผู้ป่วย และเมื่อนำถุงปัสสาวะมาแขวนก็ต้องแขวนให้ต่ำกว่ากระเพาะปัสสาวะประมาณ 30 เซนติเมตร ที่สำคัญต้องทำความสะอาดอวัยวะใช้ขับถ่ายทั้งหนักและเบาของผู้ป่วยให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อการขับถ่ายที่สะดวกของผู้ป่วยและป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดตามมาจากสุขอนามัยที่ไม่สะอาด

 

4.การทำกายภาพบำบัด

ในผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงนาน ๆ ทั้งกล้ามเนื้อและข้อพับต่าง ๆ จะถูกหยุดการใช้งาน ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลีบและข้อติด ดังนั้นผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงจึงจำเป็นที่จะต้องทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วยร่วมด้วยกับการดูแล เพื่อให้กล้ามเนื้อผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟู และเพื่อลดอาการข้อติดลง ซึ่งในการทำกายภาพบำบัดนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อการทำกายภาพที่ถูกต้องและเหมาะสมกับลักษณะของผู้ป่วย

 

ให้ อายุวัฒน์ เป็นเพื่อนที่ช่วยดูแลผู้ป่วยติดเตียงเคียงข้างคุณ

อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่ง โฮม ถือกำเนิดขึ้นเพราะเราเข้าใจดีว่างานของการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคร้ายแรง หรือผู้สูงอายุนั้น เป็นงานที่เหนื่อยยากขนาดไหน อีกทั้งผู้ดูแลยังต้องเสียสละสิ่งต่าง ๆ มากมายรวมถึงต้องหมั่นศึกษาและทำความเข้าใจการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำด้วย และเมื่อผู้ป่วยอยู่ที่บ้านก็ต้องออกไปโรงพยาบาลเพื่อไปพบแพทย์สำหรับติดตามอาการ ซึ่งการขนย้ายผู้ป่วยติดเตียงนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย ดังนั้นเราจึงได้รวบรวมเอาปัญหาเหล่านี้มาเป็นหลักในการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ในการดูแลผู้ป่วยให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งของญาติ ผู้ดูแล หรือตัวของผู้ป่วยเอง เราจึงมีการให้บริการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ในรูปแบบเนอร์สซิ่งโฮมระดับพรีเมียม ที่รวบรวมทุกความจำเป็นในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเอาไว้ด้วยกัน ไว้ใจในการบริการนี้ได้เพราะเรามีการดูแลผู้ป่วยโดยแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด และผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง โดยการดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยนั้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่การดูแลทางด้านร่างกายแต่ยังรวมไปถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยอีกด้วย