การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ สิ่งสำคัญคือการสื่อสารและทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรม ความรู้สึก และความต้องการของผู้ป่วยให้ดี เนื่องจากผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีอาการภาวะสมองเสื่อมส่งผลให้มีปัญหาความจำเสื่อม บกพร่องในด้านการเรียนรู้และการจดจำข้อมูลใหม่ ๆ รวมถึงการพูดและการสื่อสารจะมีอาการบกพร่อง จนทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตและทำกิจวัตรประจำวันลดลง ซึ่งด้วยสาเหตุและอาการเหล่านี้จึงทำให้การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์และโรคความจำเสื่อมจึงเป็นไปได้ยาก หากผู้ดูแลและครอบครัวขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนั้นบทความนี้เราจะมาแนะนำเคล็ดลับในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และการสื่อสารกับผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมอย่างถูกวิธี เพื่อให้ทั้งครอบครัวและผู้ป่วยมีความสุขซึ่งกันและกัน เคล็ดลับจะมีอะไรบ้าง มาเรียนรู้และทำความเข้าใจไปพร้อมกันเลย

หลักการสื่อสารกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์หรือผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม

  • เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ฟังที่ดี

จุดเริ่มต้นของการสื่อสารกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างเข้าใจ คือการเป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมด้วยความอดทน ใส่ใจ และสังเกตให้ดีว่าผู้ป่วยมีความรู้สึกอย่างไรในขณะนั้น เพราะผู้ป่วยก็เป็นคนที่เรารัก มีความคิดมีความรู้สึกไม่ต่างกับบุคคลทั่วไป หากพูดสื่อสารแล้วผู้ฟังไม่ให้ความสนใจ ผู้ป่วยก็จะรู้สึกไม่มีความสุขที่จะพูดสื่อสารเช่นกัน ดังนั้นคนที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ รวมถึงครอบครัวควรจะต้องให้ความสำคัญในการรับฟัง รับฟังด้วยความอดทน และพยายามไม่โต้เถียงกับผู้ป่วยจนทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกเสียความรู้สึก

  • สร้างความคุ้นเคยด้วยการเรียกชื่อผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม

การเริ่มต้นเปิดการสนทนากับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ควรที่จะเริ่มต้นด้วยการเรียกชื่อของผู้ป่วยเสมอ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้ป่วยความจำเสื่อม รู้สึกคุ้นเคยกับชื่อของตนเองและรับรู้ได้ว่าครอบครัวและคนดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์กำลังสื่อสารกับตัวผู้ป่วยอยู่ อีกทั้งการเรียกชื่อผู้ป่วยยังเป็นช่วยเตือนความทรงจำเก่า ๆ ของผู้ป่วยให้จดจำชื่อของตัวเองได้อีกด้วย

  • เล่าเรื่องในอดีตเพื่อสร้างความทรงจำใหม่

ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมจะมีอาการสูญเสียความทรงจำทั้งในระยะสั้นและยาว ซึ่งเคล็ดลับในการสื่อสารกับผู้ป่วยให้ง่ายยิ่งขึ้น คือการเล่าเรื่องในอดีตไล่มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ทำความคุ้นเคย และรู้สึกคุ้นชินกับความทรงจำของตัวเอง เช่น เรื่องครอบครัว เรื่องเพื่อน สถานที่ที่ชอบไปเที่ยว เรื่องงานและความทรงจำที่ดีของผู้ป่วย เรื่องเล่าเหล่านี้จะช่วยสร้างความสุขและความทรงจำให้กับผู้ป่วยความจำเสื่อมได้ ถึงแม้ในเบื้องต้นผู้ป่วยอาจจะจำไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยได้

  • หลีกเลี่ยงการโต้เถียงและวิจารณ์ผู้ป่วยความจำเสื่อม

การโต้เถียงและวิจารณ์ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือหนึ่งในสิ่งที่ครอบครัวและผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะการกระทำเช่นนี้นอกจากจะไม่ช่วยก่อให้เกิดอะไรดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมอีกด้วย ผู้ป่วยจะรู้สึกถูกตอกย้ำถึงปมด้อยและสูญเสียความมั่นใจในการสื่อสารกับผู้อื่นได้

  • สื่อสารกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ด้วยคำและประโยคสั้น ๆ เข้าใจง่าย

เมื่อผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ เริ่มเข้าสู่ระยะปานกลาง ซึ่งมักจะเริ่มมีอาการสูญเสียความทรงจำในระยะสั้นและยาวแล้ว ปัญหาและอาการบกพร่องในด้านการพูดสื่อสารและการใช้ภาษาของผู้ป่วยก็จะเริ่มแสดงอาการชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นครอบครัวและคนดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงควรที่จะพูดสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยถ้อยคำและประโยคที่สั้นกระชับเข้าใจง่าย และการพูดคุยควรใช้น้ำเสียงที่เรียบง่าย แต่ชัดถ้อยชัดคำ ไม่ควรใช้เสียงดังหรือตะโกนออกไป เพราะจะทำให้ผู้ป่วยความจำเสื่อมตกใจและรู้สึกเครียดได้

  • พูดคุยด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากคนทั่วไป ซึ่งการพูดคุยด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง ผ่อนคลาย และมีการสร้างอารมณ์ขันชวนให้ผู้ป่วยความจำเสื่อมได้หัวเราะออกมาบ้าง จะช่วยลดความตึงเครียดและการวิตกกังวลในการสื่อสารร่วมกับผู้อื่นได้ดี ครอบครัวและคนที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ควรกดดันหรือซักไซ้ให้ผู้ป่วยต้องตอบคำถามที่ยากจนเกินไป หรือหากคุณทราบดีแล้วว่าผู้ป่วยตอบคำถามไม่ได้แน่ ๆ ก็ไม่ควรที่จะถามออกไป เพราะคำถามเหล่านั้นอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียความรู้สึกและความมั่นใจในการสื่อสารกับผู้อื่นได้ แต่ให้ใช้การพูดให้กำลังใจผู้ป่วยแทน เพราะกำลังใจคือยารักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ครอบครัวและผู้ดูแลจะต้องอาศัยเวลา ความอดทน และให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก ใช่ว่าทุกครอบครัวจะสามารถปฏิบัติดูแลผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมกันได้ง่าย ๆ ซึ่งนอกจากจะต้องใช้ความรู้และความเข้าใจในอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นอย่างดีแล้ว การเตรียมความพร้อมในด้านอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของผู้ป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ต่างกันเลย ดังนั้นหากครอบครัวท่านใดที่รู้สึกว่าไม่พร้อมต่อการดูแลผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม ทางเราขอแนะนำให้เลือกใช้บริการอายุวัฒน์ เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์การแพทย์ผู้สูงอายุ ที่นี่เรามีทีมแพทย์ และทีมพยาบาลผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ พร้อมให้คำแนะนำและความช่วยเหลือดูแลคนที่คุณรักอย่างใส่ใจ เพราะคนในครอบครัวของคุณก็เปรียบเสมือนคนในครอบครัวของเรา