ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดดำแห้งอักเสบหรือเจาะหลอดเลือดลำบาก อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำการรักษา โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยต้องมีการให้ยาเข้าไปในกระแสเลือดโดยตรงผ่านเส้นเลือดดำ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องให้ยาเคมีบำบัดและยังต้องตรวจเลือดกับห้องปฏิบัติการอยู่เป็นประจำเพื่อดูว่าร่างกายสามารถรับยาได้หรือไม่ จึงทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดบ่อยครั้ง เช่น เส้นเลือดแห้ง เส้นเลือดแข็ง เส้นเลือดอักเสบ การเจาะเลือดก็ทำได้ลำบากต้องเจาะหลายครั้ง ทำให้ผู้ป่วยต้องทรมานเพิ่มมากขึ้นด้วย และหากผู้ป่วยมีอาการเกี่ยวกับเส้นเลือดที่ว่ามานี้อาจทำให้เสี่ยงต่อการให้ยาออกนอกหลอดเลือดดำ โดยที่ยาบางชนิดก็อาจส่งผลให้เกิดแผลคล้ายไฟไหม้อย่างรุนแรงได้ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียดและกลัวยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ต้องให้ยาเคมีบำบัดระดับสูง ร่างกายควรมีความพร้อมสำหรับการที่จะรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และทำการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันทีเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างแต่ถ้าหากเส้นเลือดดำของผู้ป่วยเสียหาย การรักษาผู้ป่วยอย่างทันท่วงทีโดยการฉีดยาผ่านทางเส้นเลือดก็จะทำได้ยากขึ้น เสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้นการฝัง port a cath ซึ่งเป็นตลับให้สารละลายที่ฝังไว้ใต้ผิวหนังและสามารถใช้ในการเจาะเลือดหรือการแทงเข็มเพื่อให้ยาได้ประมาณ 2,000 ครั้งต่อพอร์ต และสามารถอยู่กับผู้ป่วยได้หลายปีโดยไม่เกิดอันตรายจึงเป็นทางเลือกที่ดีและจำเป็น ดังนั้นในบทความนี้เราจึงอยากจะขอพาคุณมารู้จักกับ port a cath ให้มากขึ้นและให้คำแนะนำว่าการดูแลผู้ป่วยที่ฝัง port a cath ต้องทำอะไรบ้าง 

 

Port A Cath หรือ พอร์ต คืออะไร?

Port a cath หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พอร์ต เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ฝังไว้ใต้ผิวหนังของร่างกายเพื่อให้การเจาะเลือดดำทำได้ง่ายขึ้น โดยตัวอุปกรณ์มักทำมาจากไททาเนียม (Titanium) และยางซิโคน (Silicone) ซึ่งเป็นสารทึบแสงทั้งคู่ทำให้สามารถทำการ x-ray ได้ นอกจากนี้ตัววัสดุทางการแพทย์ที่ใช้ยังเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อของร่างกาย จึงทำให้ลดการเกิดอาการแทรกซ้อนจากร่างกาย มีรูปร่างเป็นกระเปาะหรือตลับต่อกับสายที่ผลิตจากซิลิโคน

โดยพอร์ตทำหน้าที่แทนหลอดเลือดดำเพื่อใช้สำหรับการให้เลือด สารน้ำ สารอาหาร ยา ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดต่าง ๆ ยาเคมีบำบัด และใช้เจาะเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยตำแหน่งที่จะใส่พอร์ตทำการฝังพอร์ตลงไปส่วนใหญ่จะเป็นในบริเวณหน้าอกส่วนบนด้านซ้ายหรือด้านขวาใต้ collar bone (ส่วนใหญ่เป็นด้านขวา) และบริเวณขาหนีบหรือแขนสำหรับในผู้ป่วยบางรายที่มีความจำเป็น 

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้สำหรับผู้ใส่ port a cath

  • การอักเสบ บวมแดง หรือการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
  • ภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) ระหว่างการแทงสาย
  • การติดเชื้อในกระแสเลือดระหว่างการใช้งาน port a cath
  • การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
  • ปลายสายอาจหักงอหรือขาดได้

 

วิธีดูแลผู้ป่วยที่ต้องใส่ Port A Cath ที่ถูกต้องเหมาะสม

  • การดูแลหลังผ่าตัดใส่ port a cath [H3]

สำหรับการดูแลหลังผ่าตัดเพื่อใส่ port a cath จะเป็นเพียงการผ่าตัดเล็ก ๆ และเป็นแผลเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ก็ต้องดูแลแผลให้แห้ง สะอาด และหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสัมผัสกับน้ำประมาณ 7 วัน เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ ว่ายน้ำได้ เพราะอุปกรณ์นี้จะอยู่ใต้ชั้นผิวหนังทั้งหมด และก่อนการใช้งาน port a cath แพทย์จะ x-ray เพื่อดูตำแหน่งให้ถูกต้องก่อนจึงจะสามารถใช้งานพอร์ตได้

  • การดูแลขณะใส่ port a cath [H3]

ผู้ป่วยที่มีการใส่ port a cath สามารถดำเนินชีวิตส่วนมาได้ตามปกติโดยไม่มีปัญหาในการใช้ชีวิต สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ สามารถทำงานและสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องงดกิจกรรมที่ต้องใช้แรงบริเวณแขนและหัวไหล่ เช่น ยกของหนัก ตีกอล์ฟ ตีเทนนิส เพราะอาจทำให้สายพอร์ตเคลื่อนที่จากตำแหน่งเดิมได้ และสำหรับผู้ที่ใส่พอร์ตบริเวณแขนต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาล หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทราบก่อนทุกครั้ง เนื่องจากจะห้ามเจาะเลือดหรือวัดความดันที่แขนข้างที่ใส่พอร์ต แต่ถ้าหากมีการเคลื่อนที่ของพอร์ตจากตำแหน่งเดิม หรือแผลผ่าตัด บวมแดง ร้อน หรือมีน้ำเหลือง มีไข้ มีอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจลำบาก ถือเป็นอาการฉุกเฉินต้องมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

  • การล้างทำความสะอาดหรือถอด port a cath

การล้างทำความสะอาดหรือการถอดสาย port a cath ควรทำที่โรงพยาบาลโดยแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยคนไหนที่ไม่มีการใช้พอร์ตเป็นเวลานานจะต้องเข้าไปล้างพอร์ตที่โรงพยาบาลทุก ๆ เดือน เดือนละครั้ง เพื่อไม่ให้พอร์ตอุดตัน และการถอดเอาพอร์ตออกจากร่างกายจะทำได้สองกรณี คือ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้พอร์ตมาเป็นเวลานานแล้วและคาดว่าจะไม่ต้องใช้งานอีก หรือกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินอย่างการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ก็จำเป็นต้องเอาพอร์ตออก

 

ที่มาข้อมูล:

https://www.rama.mahidol.ac.th/cancer_center/sites/default/files/public/pdf/Article/ImplantedPortCare.pdf

https://www2.si.mahidol.ac.th/division/nursing/sins/attachments/article/245/nursing%20%20manual%20%20port%20a%20cath.pdf