จบสวย
เมื่อพ่อจากไป… กับความรู้สึกที่เติมเต็มทั้งคนจากลา และคนที่ยังอยู่ข้างหลัง นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าของความสุขครั้งสุดท้ายอันน่าประทับใจจากคุณเอมอร วงษาพาน
.
“เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2563 พ่อมีอาการเจ็บหน้าอกและไอ คิดว่าเป็นไข้หวัด พอไปหาหมอถึงรู้ว่าไม่ใช่หวัด แต่มีน้ำท่วมปอด หมอบอกว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้ พ่อจะหัวใจวาย เลยเอาพ่อเข้า CCU นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้รู้ว่าพ่อเป็นโรคหัวใจ ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้เลย เพราะพ่อไม่ตรวจร่างกาย เขามั่นใจว่าสุขภาพดี แล้วก็ไม่อยากรู้ด้วยว่าตัวเองจะเจ็บป่วยเป็นอะไร
.
ครั้งแรกเข้าโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายคืนเดียว 300,000 บาท เราจึงย้ายมาโรงพยาบาลพระมงกุฏ มาพบหมอโรคหัวใจ หมอบอกว่า พ่อทำบอลลูนไม่ได้แล้ว เพราะเป็นเบาหวานด้วย เส้นเลือดแข็ง ฉีดสีก็ไม่ได้เพราะจะทำให้ไตพัง มีทางเดียวคือผ่า แต่มีความเสี่ยงเยอะมาก พ่อบอกว่าไม่อยากผ่าเพราะกลัวเจ็บ ถึงผ่าก็ไม่หาย ไม่รู้จะผ่าไปทำไม เขาก็แก่มากแล้ว อายุ 84 แล้ว เขาคิดแบบนี้
.
เราถามพยาบาลว่า ถ้าไม่ผ่ามันจะจบยังไง พยาบาลบอกว่าก็เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะติดเชื้อ แล้วหัวใจล้มเหลวไปเอง ฟังแล้วมันรู้สึกไม่ดี แต่ไม่รู้จะทำยังไง ตอนนั้นยังไม่รู้จัก Palliative Care หมอก็ให้เซ็นว่าจะไม่ผ่า และไม่รับการรักษาแบบรุกราน คือไม่สอดท่อ ไม่อะไรแบบนี้
.
พอกลับมาบ้าน พ่อมีอาการเป็นสเต็ปเลยคือ น้ำหนักขึ้นวันละครึ่งกิโล เพราะน้ำในร่างกายมันไม่ขับออกมา ขาบวม มือบวม หน้าบวม และน้ำท่วมปอด ก็วิ่งเข้าโรงพยาบาล เป็นอยู่แบบนี้ 2 – 3 รอบ ตอนนั้นสงสารพ่อ เลยคุยกับหมอว่าจะทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้แบบดี ๆ หมอจึงแนะนำ Palliative Care เลยมาหาข้อมูลจนในที่สุดได้เข้า Palliative Care ของพระมงกุฏ และได้พบคุณหมอนิษฐา เอื้ออารีมิตร
.
คุณหมอมาคุยกับพ่อ ถามว่าเป็นอย่างไร มีห่วงอะไรไหม พ่อตอบว่าไม่กลัวตาย แต่กลัวทรมาน กลัวเจ็บมากกว่า ตอนนั้นหมอเปิดสายคุยกันกับเราสามพี่น้องด้วย เพื่อให้รู้ว่าลูกทุกคนมีความเห็นไปในทางเดียวกันหรือเปล่า โชคดีที่ทั้งพ่อและลูกทุกคนเห็นในทางเดียวกันคือ เอาคุณภาพชีวิตไว้ก่อน คุณหมอน่ารักมาก ให้คำแนะนำทุกอย่าง ทำให้เรามั่นใจในการดูแลพ่อ
.
จากวันนั้นพ่อไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลอีกเลย หมอให้ยืมเครื่องออกซิเจนมา และบอกว่าถ้ามีอาการแบบนี้จะต้องทำอย่างไร ครั้งแรกที่พ่อเจ็บหน้าอก ตกใจกันมาก เพราะไม่เคยทำเอง สุดท้ายบอกตัวเองว่าต้องตั้งสติและทำตามที่หมอบอก ให้ออกซิเจน ให้ยา ให้มอร์ฟีน จนพ่อสงบลง หลับไป แล้วเขาก็หาย หลังจากนั้น เวลาเขามีอาการเจ็บหน้าอก เราก็ไม่ตกใจแล้ว เริ่มรู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร
.
ช่วงที่ดูแลพ่อ เราตัดสินใจพาพ่อย้ายมาอยู่คอนโดที่พัทยา เพราะพ่อบอกว่าอยากไปเที่ยวทะเล ตอนนั้นคิดตลอดว่า ทำไมไม่พาพ่อไปสักที ถ้าไม่พาไปแล้วเมื่อไหร่พ่อจะได้ไป พอเขาไหวเลยรีบพาไปเลย ตอนแรกจะอยู่แค่ 2 – 3 วัน แต่พออยู่แล้วพ่อมีความสุขเลยอยู่นาน 4 – 5 เดือน จนพ่อเสีย
.
ตัดสินใจถูกมากที่เลือก Palliative Care มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรกับผู้ป่วย และอยากให้ทุกคนได้รู้จักทางเลือกนี้ ยังนึกย้อนไปว่า ถ้าพ่อยังวิ่งเข้าออกโรงพยาบาล เขาคงเสียไปนานแล้ว เพราะทุกครั้งที่ออกจากโรงพยาบาล ร่างกายพ่อจะพังมาก แต่พอเลือก Palliative Care พ่อมีความสุข ลูก ๆ ได้ดูแลใกล้ชิด ได้พาพ่อไปเดินเล่นชายหาดทุกวัน
.
วันที่เสีย พ่อเจ็บหน้าอก เจ็บจนนั่งไม่ได้ นอนไม่ได้ เจ็บอยู่นานมาก ต้องให้มอร์ฟีนเพิ่มจนสงบลง เราถ่ายคลิปส่งให้หมอ หมอบอกว่าคนไข้น่าจะไม่ไหวแล้ว เลยจัดที่นอนให้เขา น้องสาวก็คอยนวดนิ้วบอกให้พ่อดูกายดูใจนะ เราเดินจงกรมอยู่ใกล้ ๆ น้องชายนั่งสมาธิอยู่ใกล้ ๆ น้องสาวนั่งบีบนิ้วให้พ่อไปเรื่อย ๆ จนเราไปเดินไปนั่งใกล้ ๆ พ่อ และสังเกตได้ว่าเขาไปแล้ว ไปอย่างสงบมากจริง ๆ
.
ในอีกมุมหนึ่งต้องขอบคุณโรคหัวใจ เพราะการได้มาอยู่ใกล้ชิดกันในช่วงสุดท้ายถึงได้รู้ว่า พ่อคิดอย่างไร เป็นคนอย่างไร พ่อเป็นผู้ชายรุ่นเก่า เป็นคนจีนโบราณที่ไม่พูด จะบอกรักลูกก็บอกไม่เป็น จนต้องถามว่า ป๊ารักลูกไหม ถึงจะตอบว่ารัก
.
คิดว่าการจากไปของพ่อเป็นการจบสวยที่สุดเท่าที่จะสวยได้ พ่อจากไปตอนปฏิบัติธรรม ทำให้เรามั่นใจมากว่าเขาไปดีแน่นอน ถามว่าเสียใจไหม ก็เสียใจ ร้องไห้ แต่ก่อนพ่อเสียกับหลังพ่อเสีย ความเสียใจมันไม่เห มือนกัน ก่อนพ่อเสีย ร้องไห้เพราะกลัวเขาตาย กลัวการสูญเสีย แต่หลังจากที่พ่อไปแล้ว ร้องไห้เพราะคิดถึง แต่ร้องไห้น้อยกว่าก่อนเขาจากไปด้วยซ้ำ
.
การได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายกับพ่อ ทำให้เราไม่เสียใจมากเวลาที่เขาจากไป เพราะตอนเขาอยู่ เราทำเต็มที่แล้ว และพ่อจากไปโดยได้รับรู้ว่าลูกรัก เขาไม่ต้องห่วงอะไร จากไปโดยได้รับความรักเต็มที่ ไม่มีอะไรที่ต้องดึงเขาไว้กับโลกใบนี้ ตอนงานศพพ่อ เราบอกทุกคนว่าถ่ายรูปยิ้มได้เลย เพราะพ่อไปดี ไม่ต้องเศร้า”
คุณเอมอร วงษาพาน
หมายเหตุ: Palliative Care คือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือระยะประคับประคอง ด้วยปรัชญาของการดูแลจะไม่ใช่เป็นการใช้เครื่องมือหรือความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นเพียงการยื้อความทรมานโดยไม่เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เป็นการเร่งหรือช่วยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วกว่าการดำเนินโรคตามธรรมชาติ ทำให้ลดความทรมานของผู้ป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว และช่วยให้ผู้ป่วยได้เสียชีวิตอย่างสงบหรือ “ตายดี”