การเจาะคอและใส่ท่อหลอดลมคอ เป็นการรักษาที่พบบ่อยในผู้ป่วยภาวะวิกฤติที่ไม่สามารถหายใจทางจมูกหรือปากด้วยตนเองได้จึงจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนี้ตัวผู้ป่วยยังไม่สามารถขับเสมหะด้วยตนเองได้อีกด้วย จึงใช้การเจาะคอเข้าช่วย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอันเกิดจากการใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน เพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจแทนการใช้เครื่องช่วยหายใจ และภายหลังการทำการรักษาต้องมีการดูแลบริเวณที่ทำการเจาะคอและใส่ท่อหลอดลมคออย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนและการติดเชื้อ ในบทความนี้จะกล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยเจาะคอที่บ้านอย่างถูกวิธีและเหมาะสมกับผู้ป่วย

การเจาะคอ คืออะไร

การเจาะคอ (tracheostomy) คือ การสร้างทางติดต่อระหว่างหลอดลมกับผิวหนังบริเวณด้านหน้าของลำคอของคนไข้ที่มีภาวะทางเดินหายใจส่วนบนถูกปิดกั้น จนไม่สามารถใช้จมูกหรือปากในการหายใจได้ ทำให้อากาศสามารถผ่านเข้าสู่ปอด โดยไม่ต้องผ่านช่องจมูก และลำคอส่วนบน

ท่อหลอดลมคอ คืออะไร

ท่อหลอดลมคอ คือ ท่อที่ใส่เข้าไปในหลอดคอภายหลังการผ่าตัดเจาะคอ โดยใส่ผ่านผิวหนังและกล้ามเนื้อคอ ซึ่งการเลือกท่อหลอดลมคอที่เหมาะสมจะพิจารณาจากอายุและขนาดของหลอดลมคอของผู้ป่วย รวมถึงวัสดุที่ใช้ทำหลอดลมคอ (เงิน โลหะ พลาสติก และโลหะผสมซิลิโคน) โดยการเลือกขนาดของท่อหลอดลมคอที่พอเหมาะกับขนาดของหลอดลมคอของผู้ป่วยนี้ จะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับเยื่อบุหลอดลมคอ

ประเภทของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการเจาะคอ

  1. ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจระยะเวลานาน หรือต้องใช้เวลานานในการหย่าเครื่องช่วยหายใจ
  2. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถไอขับเสมหะ
  3. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมการหายใจ
  4. ผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น
  5. ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับหู คอ และจมูก (เช่น การผ่าตัดกล่องเสียง ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเจาะคอและใส่ท่อหลอดลมคอ)

แนวทางการดูแลผู้ป่วยเจาะคอที่บ้าน

ภายหลังการผ่าตัดเจาะคอ ผู้ป่วยจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดในช่วงสัปดาห์แรก เนื่องจากต้องคอยตรวจสอบว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการเจาะคอและใส่ท่อหลอดลมคอหรือไม่ และยังเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการหลุดของท่อ รวมถึงเป็นช่วงที่ต้องมีการดูแลเรื่องของความสะอาดอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณที่ได้รับการผ่าตัด โดยหลังจากช่วงหนึ่งสัปดาห์ผ่านไปหากไม่ตรวจพบความผิดปกติใด ๆ แพทย์จะอนุญาตให้สามารถกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้

การทำความสะอาดแผลท่อหลอดลมคอ

การทำความสะอาดแผลเจาะคอนี้ควรทำความสะอาดแผลและเปลี่ยนผ้าก๊อซอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้งหรือเมื่อผ้าก๊อซมีความเปียกชื้น โดยมีขั้นตอนทำความสะอาดแผล ดังนี้

  1. ดูดเสมหะหรือให้ผู้ป่วยไอออกก่อน
  2. แกะพลาสติกหรือผ้าก๊อซรองใต้ท่อหลอดลมคอออก
  3. ล้างทำความสะอาดมือก่อนและหลังทำแผลทุกครั้ง
  4. ใช้สำลีชุบน้ำเกลือเช็ดผิวหนังรอบ ๆ ท่อหลอดลมคอ
  5. ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือหรือน้ำต้มสุกเช็ดใต้หลอดลมคอบนและล่างให้สะอาด
  6. ใช้ผ้าก๊อซพับครึ่งสอดไปที่ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง
  7. ปิดปลาสเตอร์บริเวณชายผ้าก๊อซทั้ง 2 ด้าน เพื่อป้องกันการเลื่อนหลุด

การทำความสะอาดท่อหลอดลมคอชั้นใน

การทำความสะอาดท่อหลอดลมคอชั้นในควรทำวันละ 2-3 ครั้ง โดยขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่ามีเสมหะมากหรือเสมหะเหนียวหรือไม่ โดย

  1. ปลดล็อกท่อหลอดลมคอ และนำท่อหลอดลมคอด้านในออกมา
  2. นำท่อหลอดลมคอชั้นในไปแช่น้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
  3. ใช้แปรงหรือผ้าดันเสมหะในหลอดท่อลมคอออกให้หมด
  4. ใช้แปรงชุบน้ำยาล้างจานหรือสบู่ ถูไปมาทั้งภายในและภายนอก
  5. ในกรณีของท่อโลหะ ให้ล้างน้ำจนสะอาด หลังจากนั้นนำไปต้มในน้ำเดือดนาน 30 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งเพื้อล้างสารเคมีออกไป (ในกรณีที่เป็นท่อพลาสติก ล้างแล้วแช่ในน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 30 นาที แล้วล้างน้ำออกด้วยน้ำสะอาดเพื่อล้างสารเคมีออกไป)
  6. ก่อนนำออกไปใช้ ต้องให้ผู้ป่วยไอขับเสมหะออกให้หมด และสลัดท่อให้แห้งสนิท ไม่มีหยดน้ำขังอยู่ในท่อ
  7. ใส่ท่อหลอดลมชั้นใน และหมุนล็อกท่อหลอดลมคอให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการหลุด

ข้อควรระวังและข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่ใส่หลอดลมคอ

  1. ควรหลีกเลี่ยงหรือระวังไม่ให้น้ำเข้าหลอดลมคอโดยการ
    • ห้ามลงเล่นน้ำในสระหรือคลอง เพื่อไม่ให้น้ำเข้าท่อหลอดลมคอซึ่งน้ำจะเข้าปอดได้
    • ไม่ควรเล่นสาดน้ำกัน
    •  หลีกเลี่ยงการโดยสารทางเรือ
    • หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านขณะฝนตกและเวลาฝนตกต้องหลบในที่ร่มเท่านั้น
    • ระวังในขณะอาบน้ำ สระผม อย่าให้น้ำเข้าไปในหลอดลม
  1. ดูแลร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงที่แห้งและเย็นจัด
  2. ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าท่อหลอดลมคอโดยการใช้ผ้าปิดไว้เมื่อออกนอกบ้าน
  3. เพื่อป้องกันการอาเจียน ไม่ควรดูดเสมหะทันทีหลังรับประทานอาหาร

 

และสุดท้ายหากเกิดอาการผิดปกติ เช่น ท่อหลอดลมหลุด ท่อชั้นในหาย หรือไม่สามารถใส่ท่อเข้าไปได้ หรือหากมีการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก รวมไปถึงอาการบ่งชี้ที่บอกว่าอาจเกิดการติดเชื้อบริเวณแผลเจาะคอ เช่น ปวด บวม แดง หรือมีหนอง หรือมีเลือดออกจากท่อหลอดลม หรือมีการติดเชื้อในปอดหรือหลอดลมบริเวณรอบท่อซึ่งทำให้มีอาการไอมาก เสมหะข้น และมีไข้ร่วม ผู้ป่วยควรไปเข้าพบแพทย์โดยทันที

 

ที่มาข้อมูล:

บทบาทของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤตที่ได้รับการเจาะคอและใส่ท่อหลอดลมคอในหอผู้ป่วยไอซียู. เข้าถึงได้จาก https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Nubuu/article/download/248305/168727/ 

แนวทางการดูแลผู้ป่วยเจาะคอที่บ้าน. เข้าถึงได้จาก https://www.rajavithi.go.th/rj/wp-content/uploads/2019/01/A1-2019.pdf