การดูแลแบบประคับประคองคืออะไร?

การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) คือ แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่เป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบตะวันตก และกำลังเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ให้คำจำกัดความของการดูแลแบบประคับประคองว่าเป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคที่รักษาไม่หายด้วยการป้องกัน บรรเทาอาการ ตลอดจนการบรรเทาความทุกข์ทรมานด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เป็นการดูแลแบบองค์รวมครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพ อันได้แก่ ร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ และสังคม ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะครอบคลุมถึงการดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และคาดว่าจะมีชีวิตเหลืออยู่น้อยกว่า 6 เดือน – 1 ปี ดังนั้น ความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ การยอมรับและเข้าใจว่าผู้ป่วยมีเวลาเหลืออีกไม่นาน การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองจึงมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ควบคู่กับการรักษาหลักที่มุ่งหวังกำจัดโรค โดยคำนึงถึงความต้องการและความปรารถนาของผู้ป่วยและครอบครัวร่วมกันด้วยหวังให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบ ไม่มีเรื่องติดค้างไว้เบื้องหลัง อย่างไรก็ตาม การดูแลผู้ป่วยตามแนวทางนี้ โดยเฉพาะในช่วงใกล้เสียชีวิต ยังจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวไม่ตื่นตระหนก เข้าใจ และรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

 

เป้าหมายของการดูแลแบบประคับประคอง

การดูแลแบบประคับประคองไม่ใช่เพียงแค่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น แต่เป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วยในองค์รวมตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มเผชิญกับภาวะความเจ็บป่วยจนถึงการดูแลผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต เป้าหมายของการดูแลแบบประคับประคอง คือ การมุ่งหวังให้ผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัวสามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข มีความสัมพันธ์ที่ดีในวาระสุดท้าย มีความสุขสบายทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ครอบคลุมถึงการลดความทุกข์ทรมานจากการยื้อชีวิต เนื่องจากการรักษาบางอย่างในห้อง ICU อาจเป็นการรักษาที่สร้างความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดโดยที่ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยสามารถจากไปอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษยและสอดคล้องกับความเชื่อศาสนา สังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว

องค์ประกอบที่สำคัญของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

องค์ประกอบที่สำคัญของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

  1. การควบคุมอาการไม่สุขสบาย (Symptom Control)

ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายมักมีความเปราะบางและมีกลุ่มอาการต่าง ๆ ทางร่างกายที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของผู้ป่วย ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการปวด หายใจลำบาก ถ่ายเหลว ท้องผูก อ่อนแรง เหนื่อยล้า มีความผิดปกติทางช่องปาก เช่น แผลในปาก ปากแห้ง เป็นต้น การจัดการอาการที่มีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญมาก

  1. การรักษาโรค (Disease Management)

ส่วนใหญ่เป็นบทบาทหน้าที่ของแพทย์ที่จะจัดการกับตัวโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น

  1. การดูแลด้านจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ (Psychological and Spiritual Care)

สำหรับผู้ป่วยในระยะสุดท้าย การดูแลด้านจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน การดูแลด้านจิตใจและสังคม ได้แก่ บุคลิกลักษณะ ความสนใจ งานอดิเรก ศาสนา อาชีพ ครอบครัว ความเชื่อ ความสัมพันธ์ ส่วนการดูแลด้านจิตวิญญาณ ได้แก่ การค้นหาความหมายของชีวิต ความตาย คุณค่า การให้อภัย ความรัก ความเข้าใจ และความเชื่อทางศาสนา เป็นต้น

 

หลักการของการดูแลประคับประคอง

หลักการของการดูแลประคับประคอง คือ การส่งเสริมให้ผู้ป่วยและญาติมีความเข้าใจเรื่องโรคและการดำเนินของโรคเพื่อให้สามารถวางแผนในการใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้มีค่าที่สุด รวมถึงสามารถใช้เวลาดังกล่าวสะสางปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาหลัก โดยเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้และครอบครัวดีขึ้น มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้

  • ดูแลทั้งผู้ป่วยและครอบครัว
  • ประเมินผู้ป่วยอย่างถี่ถ้วนและรอบด้าน ให้การดูแลโดยมุ่งลดความทุกข์ทรมานทั้งจากอาการทางกาย เช่น ลดอาการปวด หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน จากอาการทางจิตใจ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น
  • พยายามดูแลให้ผู้ป่วยถึงวาระสุดท้ายอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เร่งการเสียชีวิต ไม่ยืดการเสียชีวิต

 

  • การวางแผนสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว

การวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning) ในผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นกระบวนการสื่อสารและวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว และทีมที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเพื่อพูดคุยกันถึงความต้องการหรือความประสงค์ในการรับการดูแลทางการแพทย์ตามแนวทางที่ผู้ป่วยต้องการเผื่อในกรณีที่ผู้ป่วยตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถสื่อสารความต้องการของตนเองได้ เพื่อมอบการดูแลรักษาที่ตรงตามความประสงค์ของผู้ป่วย ลดความวิตกกังวล ความกลัวของผู้ป่วย อีกทั้งยังช่วยหลีกเลี่ยงความสับสน หรือความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนเพื่อหลีกเลี่ยงการยื้อชีวิตผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น ทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวดและทรมานจากเครื่องมือกู้ชีพต่าง ๆ เช่น เครื่องเจาะคอ ท่อช่วยหายใจ เครื่องปั๊มหัวใจ การต่อสายให้อาหาร ฯลฯ

  • เริ่มต้นการดูแลประคับประคองช่วงใด

การดูแลประคับประคองสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย เริ่มเผชิญภาวะความเจ็บป่วยที่เป็นอันตรายถึงชีวิต หรือเมื่อผู้ป่วยและครอบครัวพร้อมที่จะเข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง โดยการดูแลประคับประคองจะค่อย ๆ มีบทบาทมากขึ้นเมื่อตัวโรคเป็นมากขึ้น หรืออาการของผู้ป่วยมีมากขึ้น ตราบจนกระทั่งผู้ป่วยจากไป รวมถึงให้การดูแลความเศร้าโศกเสียใจของครอบครัวจากการสูญเสียด้วย

  • สถานที่สำหรับการดูแลผู้ป่วย

การดูแลแบบประคับประคองนั้นสามารถทำได้ทั้งที่บ้าน โรงพยาบาล หรือในสถานพยาบาลที่มีความพร้อม โดยขึ้นกับอาการของผู้ป่วยในขณะนั้น หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น มีภาวะติดเชื้อ อาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลที่โรงพยาบาล เนื่องจากต้องให้การรักษาหรือให้ยาทางหลอดเลือด หรือสาเหตุอื่น ๆ โดยเมื่ออาการของผู้ป่วยสงบลงก็อาจพาผู้ป่วยกลับมาดูแลที่บ้าน หรือที่สถานพยาบาลที่มีความพร้อมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วยและบริบทของครอบครัวเป็นหลัก

 

ผู้ป่วยประเภทใดที่ต้องได้รับการดูแลประคับประคอง

  • กลุ่มผู้ป่วยที่กำลังเผชิญกับโรคหรือภาวะคุกคามที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
  • กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าสภาพการเจ็บปวดไข้เป็นระยะลุกลาม เรื้อรัง หรือเข้าสู่ระยะท้ายของโรค ซึ่งไม่มีทางรักษาให้หายได้
  • กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคอื่น ๆ อาทิ โรคไตวาย โรคตับเรื้อรัง โรคปลอกประสาทเสื่อม พาร์กินสัน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ กลุ่มโรคความผิดปกติทางระบบประสาท สมองเสื่อม ความพิการแต่กำเนิด วัณโรคดื้อยา เป็นต้น

 

ทำความเข้าใจผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง

  • เข้าใจอาการของผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิต

เมื่อถึงจุดหนึ่ง การดำเนินโรคจะเป็นมากขึ้น บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจว่าไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงความตายได้ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยจากไปด้วยความไม่ทุกข์ทรมาน ดังนั้น การทำความเข้าใจอาการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตอาจช่วยให้ครอบครัวสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น อาการของผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตมีดังนี้

    • อ่อนเพลีย อ่อนล้า ไม่มีแรง

เนื่องจากการดำเนินโรคที่เป็นมากขึ้น ความสามารถในการทำกิจวัตรของผู้ป่วยจะค่อย ๆ ลดลงตามความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยอาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เช่นเดิม

    • รับประทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อยลง

การที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อยลงมักสร้างความกังวลให้กับครอบครัว เพราะคิดว่าอาจทำให้ผู้ป่วยหิว ขาดสารอาหาร หรือทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน แต่แท้จริงแล้วการรับประทานอาหารและน้ำลดลงเนื่องมาจากตัวโรคที่เป็นมากขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารและน้ำได้น้อยลง ร่วมกับความต้องการของร่างกายที่ลดลง

    • สติสัมปชัญญะเปลี่ยนแปลง

ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมลง นอนหลับมากขึ้น หรืออาจสับสน นอนกลางวัน ตื่นกลางคืน กระสับกระส่าย กระวนกระวาย เพ้อ คราง ประสาทหลอน ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทำให้ญาติเข้าใจผิดว่าเกิดจากความเจ็บปวด แต่หากผู้ป่วยกระสับกระส่าย กระวนกระวายมาก อาจจำเป็นต้องได้รับยาช่วยบรรเทาอาการ

    • การหายใจผิดปกติ

ผู้ป่วยอาจมีการเปลี่ยนแปลงของการหายใจ หายใจเฮือก อ้าปากหายใจ หายใจเร็ว หรือหายใจเร็วสลับกับหายใจช้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากความบกพร่องในการควบคุมการหายใจของสมอง ร่วมกับอาจมีเสมหะคั่งค้างในทางเดินหายใจ ผู้ป่วยอาจหายใจเสียงดังครืดคราด สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น โดยการจัดท่านอนตะแคง ใช้ยาลดเสมหะ เป็นต้น

    • ปลายมือปลายเท้าเย็นหรือคล้ำ

ในช่วงนี้เลือดจะไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง เนื่องจากหัวใจสูบฉีดเลือดเพื่อไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้น้อยลง อาจทำให้หัวใจของผู้ป่วยเต้นเร็วขึ้น ผิวลาย ชีพจรเบาลง ความดันโลหิตลดต่ำลง ปลายมือปลายเท้าเย็น หรือเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือสีคล้ำได้

    • กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่อยู่

เนื่องจากระบบประสาทผิดปกติ กล้ามเนื้อหูรูดจึงคลายตัว ผู้ป่วยอาจขับถ่ายไม่รู้ตัว แต่ควรใส่สายสวนในกรณีที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อลดการรบกวนผู้ป่วย

    • หลับตาไม่สนิท

ผู้ป่วยที่ใกล้ถึงวาระสุดท้ายบางรายอาจมีไขมันที่สะสมอยู่หลังเบ้าตาลดลง ทำให้เกิดการดึงรั้งของลูกตาไปทางด้านหลัง เปลือกตาจึงปิดไม่สนิท ทำให้เกิดภาวะตาแห้งและกระจกตาเป็นแผลได้ ในกรณีนี้อาจใช้น้ำตาเทียม หรือขี้ผึ้งป้ายตาเพื่อให้ดวงตาของผู้ป่วยชุ่มชื้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังอาจได้ยินเสียงและรับรู้การสนทนาได้ แม้ว่าอาจจะไม่สามารถโต้ตอบได้  ครอบครัวพูดคุย บอกรัก แสดงออกถึงความห่วงใย ปลอบประโลมให้ผู้ป่วยคลายกังวลในเรื่องต่าง ๆ  นอกจากนี้ ควรพูดด้วยความเคารพในตัวผู้ป่วย และระมัดระวังการพูดขัดแย้งกันเมื่ออยู่ใกล้ผู้ป่วย

 

  • สิ่งที่ต้องปฎิบัติหากผู้ป่วยเสียชีวิต

ผู้ป่วยและญาติควรปรึกษาถึงภารกิจต่าง ๆ ที่จะตามมาหลังผู้ป่วยจากไป เช่น รูปสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พินัยกรรม สถานที่สุดท้ายที่ต้องการอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เช่น ที่บ้าน โรงพยาบาล ฯลฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นกับญาติและครอบครัวหลังผู้ป่วยเสียชีวิต รวมถึง

    • หากผู้เสียชีวิตเคยแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้ ควรติดต่อศูนย์รับอวัยวะ โทรศัพท์หมายเลข 1666 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้หากเป็นความจำนงบริจาคดวงตาไว้ ควรติดต่อภายใน 6 ชั่วโมงหลังการเสียชีวิต
    • แจ้งการตายและขอหนังสือรับรองการตายที่ฝ่ายทะเบียนสำนักงานเขตท้องที่ภายใน 24 ชั่วโมง โดยในกรณีเสียชีวิตที่บ้าน ญาติควรติดต่อกับโรงพยาบาลให้ออกหนังสือรับรองการตายให้โดยใช้ใบรับรองแพทย์ที่บ่งชี้ถึงโรคเรื้อรังที่เป็นในการแจ้งหรือยื่นแก่ผู้ใหญ่บ้านเพื่อออกหนังสือรับรองการตายให้ ส่วนการเสียชีวิตที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลจะออกหนังสือรับรองการตาย ซึ่งสามารถนำไปใช้แจ้งตายที่สำนักงานเขตได้ทันที เอกสารและหลักฐานที่ต้องใช้ในการแจ้งตายประกอบด้วย บัตรประจำตัว ประชาชนของผู้แจ้ง ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ผู้ป่วยมีชื่ออยู่ (ถ้ามี) หนังสือรับรองการตาย (ถ้ามี) บันทึกประจำวันแจ้งความคนตาย (กรณีไม่มีหลักฐานรับรองการตาย)
    • ติดต่อจัดการงานศพและพิธีกรรมอื่น ๆ ตามความเชื่อ

ในวาระสุดท้ายของผู้ป่วย การช่วยดูแลสภาพจิต อารมณ์ ความรู้สึกของกันและกันระหว่างผู้ป่วยและญาติเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถร่วมกันผ่านพ้นช่วงเวลาของความทุกข์ได้อย่างสงบและมีสติในช่วงเวลายากลำบากของชีวิต การพูดคุย สื่อสาร แสดงออกถึงความรัก ความห่วงใยจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้ การให้กำลังใจกันระหว่างญาติก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกคนกลับมาเข้มแข็งได้ในเร็ววัน

 

ที่มา

https://www.rama.mahidol.ac.th/palliative/sites/default/files/public/Pallative%20care.pdf

https://www.phyathai.com/article_detail/3214/th/การดูแลแบบประคับประคอง_(Palliative_Care)_สำหรับผู้ป่วยและครอบครัว

https://www.dms.go.th/backend//Content/Content_File/Practice_guidelines/Attach/25640114130713PM_aw%20คู่มือการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง_5.pdf

 

เขียนโดย

อายุวัฒน์เนอร์ซิ่งโฮม