ไต เป็นอวัยวะสำคัญในร่างกายซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกาย หากไตเสื่อมสภาพก็จะกรองของเสียออกจากร่างกายไม่ได้หรือที่เราเรียกว่า ไตวาย ซึ่งอันตรายที่ร้ายแรงที่สุดของไตวาย คือ อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้เลย ดังนั้นจึงต้องทำการรักษาโดยการฟอกเลือดโดยใช้เครื่องไตเทียม

(Hemodialysis-HD), การล้างไตทางช่องท้อง (Continuous Ambulatory Peritoneal DialysisCAPD) หรือหากไตเสื่อมระยะสุดท้ายจนการฟอกเลือดหรือการล้างไตไม่ได้ผลก็ต้องได้รับการปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation-KT) ในที่สุด

 

โรคไตมีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ซึ่งโรคไตอักเสบชนิดเฉียบพลัน ไตจะยังสามารถทำงานได้บางส่วน และสามารถรักษาให้หายหายขาดได้ แต่หากเป็นโรคไตชนิดเรื้อรังที่หน่วยไตถูกทำลายลง จะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างรุนแรง เช่น มียูเรียและยูริกซึ่งเป็นของเสีย คั่งค้างในร่างกายจำนวนมาก เลือดเป็นกรด ตัวบวมเนื่องจากมีน้ำและโซเดียมค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งหากเป็นโรคไตชนิดเรื้อรังจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงบำบัดด้วยยาและควบคุมอาหาร เพื่อทำให้การเสื่อมของไตช้าลง เพื่อยืดระยะเวลาของการฟอกไตและการเปลี่ยนไตออกไป มาดูกันว่าการควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตต้องทำอย่างไรบ้าง

 

อาหารอะไรบ้างที่ผู้ป่วยโรคไตทานได้และอาหารอะไรที่ควรเลี่ยง?

โปรตีน: 

ในหนึ่งวันผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรจำกัดปริมาณโปรตีนให้น้อยกว่าคนปกติ  (<0.8 กรัม) เพื่อให้เกิดของเสียน้อยลง (ไตส่วนที่เหลือจะได้ทำงานลดลง) แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 0.6 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเพราะอาจทำให้เกิดภาวะบกพร่องโปรตีนด้วยเช่นกัน โดยขอแนะนําให้ผู้ป่วยโรคไตเคร่งครัดกับปริมาณอาหารโปรตีนที่บริโภคอย่างสม่ำเสมอ (ทุกมื้อทุกวัน) เพราะปริมาณที่มากไปจะเป็นเหตุให้ไตเสื่อม และปริมาณที่น้อยไปก็จะเป็นเหตุให้เกิดการขาดและนำไปสู่สภาวะ PCM ได้ 

ซึ่งโปรตีนที่แนะนำให้รับประทาน เช่น เนื้อปลา (เนื่องจากมีไขมันต่ำ และมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง) ไข่ขาว เนื้อหมู (ไม่ติดมัน เช่น สันในหมู) เนื้อไก่ (ไม่ติดหนังและระวังการใช้ส่วนอกไก่ที่มีโปรตีนสูง และส่วนปีกไก่ที่มีพิวรีนสูง) นมไขมันต่ำ เป็นต้น

และโปรตีนที่ควรเลี่ยง เช่น เครื่องในสัตว์ (เช่น ตับ ไต ไส้ สมอง เพราะมีโคเลสเตอรอลสูง กรดยูริกก็สูง เป็นอาหารต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดแปรปรวนและ/หรือมีภาวะกรดยูริกสูง) ไข่แดง (นมและถั่วควรงดเมื่อมีภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง)

 

คาร์โบไฮเดรต: 

เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจำเป็นจะต้องจำกัดโปรตีนแบบเข้มงวดดังนั้น จึงควรเลือกรับประทานแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตประเภทที่ปลอดโปรตีนด้วย ดังนั้นอาหารประเภทแป้งที่แนะนำ ได้แก่ วุ้นเส้น (แป้งทำจากถั่วเขียว) ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ ซ่าหริ่ม ตะโก้ ขนมลืมกลืน ขนมที่ทำจากมันแป้งสำปะหลัง เช่น สาคู ครองแครง ลอดช่องสิงคโปร์ ฯลฯ 

และควรหลีกเลี่ยง ข้าวเจ้า ก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี เพราะแป้งเหล่านี้มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจทำให้ได้รับโปรตีนต่อวันเกินได้

 

ไขมัน: 

อาหารประเภทไขมันนั้นสามารถรับประทานได้ แต่ควรจำกัดให้อยู่ที่ปริมาณไม่เกิน 30-35% ของพลงงานที่ได้รับจากอาหาร โดยจะลดปริมาณไขมันชนิดอิ่มตัวและไขมันทรานส์ลงเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นอาหารประเภทไขมันที่แนะนำให้รับประทานจึงเป็นประเภทไขมันต่ำและไขมันดี น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันถั่วเหลือง

ส่วนอาหารประเภทที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบและควรเลี่ยง เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู กะทิ และอาหารที่มีคลอเลสเตอรอลสูง เช่น อาหารทะเล อาหารฟาสต์ฟู้ด ไข่แดง เครื่องในสัตว์ รวมถึงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น เนยเทียม เนยขาว ที่อยู่ในเบเกอรี่ต่าง ๆ ด้วย

 

เกลือแร่:

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมักประสบปัญหาเกลือแร่เกิน โดยเฉพาะโซเดียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส จึงควรจำกัดปริมาณจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ดังนั้นการรับประทานปริมาณเกลือแร่ให้พอดีจึงแนะนำให้รับประทาน ดังนี้

  • โซเดียม: แนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตทุกระยะ ควรจำกัดปริมาณโซเดียมที่ใช้คือ ประมาณ 2-3 กรัม/วัน โดยควรลดปริมาณซีอิ๊วปรุงอาหารลงให้เหลือประมาณ 3 ช้อนชาต่อวัน และหลีกเลี่ยงอาหารฟาดฟู้ด อาหารแปรรูป อาหารที่เค็มจัด อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น ขนมขบเคี้ยว แฮม เบคอน ไส้กรอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น
  • โพแทสเซียม: แนะนำให้รับประทานผักที่มีปริมาณโพแทสเซียมไม่สูงนัก ได้แก่ แตงกวา มะเขือยาว ฟักเขียว บวบ เป็นต้น
  • ฟอสฟอรัส: อาหารที่ฟอสฟอรัสต่ำ เช่น ไข่ขาว แต่แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่ฟอสฟอรัสสูง ซึ่งได้แก่ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนมทุกชนิด เมล็ดพืช และขนมที่มีส่วนประกอบของผงฟูและยีสต์ เช่น เค้ก โดนัท คุ้กกี้ เป็นต้น

 

Aryuwat ศูนย์รับดูแลผู้ป่วยฟอกไตและล้างไตในย่านพระรามสอง

อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่ง โฮม รับดูแลผู้ป่วยฟอกไตอย่างใกล้ชิด โดยเรามีทั้งแพทย์ พยาบาล และทีมสหวิชาชีพที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุคอยดูแลตลอดการเข้าพักกับเรา พร้อมบริการพาไปฟอกไตที่โรงพยาบาลหรือไปพบแพทย์ตามนัด ผู้ป่วยหรือญาติจึงไม่จำเป็นต้องสละเวลาพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง อีกทั้งยังมีสมุดบันทึกรายงานการดูแลผู้สูงอายุและดูแลผู้ป่วย รวมทั้งใบสรุปอาการเมื่อผู้สูงอายุไปพบแพทย์ เรายังใส่ใจดูแลเรื่องอาหารการกินของผู้ป่วย โดยการวางแผนเมนูอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยให้อีกด้วย ดังนั้นหากคุณไว้ใจให้เราดูแลคนที่รักก็ไม่มีอะไรต้องกังวลอีก