หลายครั้งที่ผู้สูงอายุหรือคนที่เรารักมีนิสัยเปลี่ยนไปเมื่อกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง จากคนที่เคยเป็นคนสดใส ร่าเริง สนุกสนานก็กลายเป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียว โมโหง่าย ขี้น้อยใจ วิตกกังวล หรือในกรณีที่รุนแรงมาก ๆ อาจมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังมาก ๆ เพราะอาการป่วยทางใจเหล่านี้อาจซ้ำเติมให้สุขภาพทางร่างกายของผู้ป่วยย่ำแย่ลงไปด้วย

สิ่งแรกคือเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสภาวะอารมณ์ที่ไม่มั่นคงของผู้ป่วยนั้น เกิดมาจากความเครียดและความวิตกกังวลจากร่างกายที่เจ็บป่วย และผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จึงอาจมีสาเหตุมาจากวัยทองร่วมด้วย รวมถึงความกลัวที่ว่าจะถูกทอดทิ้งเนื่องจากขยับร่างกายได้ไม่สะดวก และอาจนึกเปรียบเทียบชีวิตกับสิ่งที่ตนเองเคยทำได้ในอดีตก็ยิ่งทำให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร จนกลายมาเป็นอารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ต่อผู้ดูแล

สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จึงกลับกลายมาเป็นภาระให้กับผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียง เพราะนอกจากจะต้องรับมือกับการดูแลร่างกายผู้ป่วยแล้ว ยังต้องคอยตรวจสอบดูแลสภาวะทางจิตใจและรับมือกับสภาวะอารมณ์ที่ไม่คงที่ของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจต่อสู้กับดรคและอาการเจ็บป่วย ไม่ให้อาการเจ็บป่วยทางร่างกายย่ำแย่ลง วันนี้อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุในย่านพระราม 2 จึงมีข้อแนะนำสำหรับการรับมือกับสภาวะอารมณ์ที่ไม่มั่นคงของผู้ป่วยติดเตียงมาฝากกัน

 

10 วิธีรับมือกับอารมณ์ของผู้ป่วยติดเตียง

  1. รับฟังปัญหาอย่างจริงใจ เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีเรื่องกังวล หรือเรื่องที่ไม่สบายใจ การที่มีคนคอยรับฟังอาจทำให้ พวกเขาใจเย็นลงได้บ้าง
  2. พูดคุยกับผู้ป่วยด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล เป็นมิตร ไม่ข่มขู่ เพราะการที่เราพูดไม่ดีใส่อาจยิ่งไปเพิ่มความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมากขึ้น แล้วผู้ป่วยจะยิ่งมีอารมณ์ฉุนเฉียว
  3. ให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ สอนให้เขารู้จักอยู่กับปัจจุบัน ไม่ยึดติดกับอดีต
  4. ชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมที่สนุกสนาน สามารถทำร่วมกันได้ทั้งผู้ดูแลและผู้ป่วย
  5. ให้ความสำคัญกับอาหาร เพราะหลายครั้งผู้ป่วยติดเตียงอาจถูกจำกัดการทานอาหารบางอย่าง การหาของโปรดที่ผู้ป่วยชอบและสามารถรับประทานได้มาให้ผู้ป่วยทานเป็นบางครั้ง ก็ถือเป็นกำลังใจดี ๆ สำหรับผู้ป่วย
  6. สร้างอารมณ์ขัน อาจหามุกตลกหรือเรื่องราวขบขันในชีวิตประจำวันมาเล่าให้ผู้ป่วยฟัง บางครั้งการได้ยิ้มและหัวเราะบ่อย ๆ ก็จะทำให้ผู้ป่วยช่วยผ่อนคลายความทุกข์ที่อยู่ในใจ
  7. ชื่นชมผู้ป่วยในเวลาที่พวกเขาทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เพราะหลายครั้งผู้ป่วยติดเตียงอาจรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง คำชมเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจเป็นเรื่องเล็กสำหรับเรา แต่มีค่ามากสำหรับผู้ป่วย
  8. ใช้ธรรมะหรือสัจธรรมของชีวิต เป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยปล่อยวางสังขารและอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น
  9. ใช้ภาษากายเพื่อแสดงความรัก ด้วยการกอด การหอมแก้ม ช่วยเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองให้กับผู้ป่วย หรือบอกรักกัน
  10. ปรึกษาจิตแพทย์ หากรู้สึกว่าผู้ป่วยจมอยู่กับความเศร้านานเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมได้ เพราะฉะนั้นการเข้าพบผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตใจอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา อาจเป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงได้บรรเทาความทุกข์ในใจ

 

ดูแลผู้ป่วยติดเตียงแล้วอย่าลืมดูแลติดใจตัวเองด้วย

เถียงไม่ได้เลยว่าเมื่อมีคนในครอบครัวล้มป่วยกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง คนที่ต้องแบกรับความเครียด ความวิตกกังวล ก็คือญาติผู้ป่วยด้วยเช่นกัน เพราะต้องดูแลร่างกาย การทำความสะอาด การป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเป็นแผลกดทับ และด้านอื่น ๆ ต้องรับมือกับอารมณ์ที่ไม่คงที่ของผู้ป่วยอาจยิ่งทำให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ดูแลเองก็ต้องดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเองให้ดีเพื่อไม่ให้ล้มป่วยไปด้วยอีกคน หมั่นให้กำลังใจตนเองเสมอว่าทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่เต็มความสามารถแล้ว

หรือหากมีปัญหาหรือความเครียดสะสมจากการดูแลผู้ป่วย ควรปรึกษาคนรอบข้าง เช่น คนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรืออาจปรึกษาจิตแพทย์ร่วมด้วย และหมั่นทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ อาจหาเวลาว่างจากตอนที่ผู้ป่วยพักผ่อน เพื่อทำกิจกรรมและอยู่กับตนเองบ้าง ที่สำคัญ คือต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย และนอนหลับให้เพียงพอ จะได้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงเพื่อดูแลผู้ป่วยต่อไป

ที่อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่งโฮม เราเข้าใจดีว่างานของการดูแลผู้ป่วยนั้นเป็นเรื่องที่ยากและละเอียดอ่อนมากแค่ไหน เราจึงพร้อมให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียงด้วยความใส่ใจ มีทีมแพทย์ พยาบาล และผู้ร่วมสหวิชาชีพ ที่คอยดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชม. และมีกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกายและใจของผู้ป่วย หากคุณอยากฝากฝังคนที่รักไว้กับใครสักคน ก็ต้องที่อายุวัฒน์นี่แหละ