สำหรับผู้ป่วยที่มีการใส่สายสวนปัสสาวะหรือคาสายสวนปัสสาวะนั้น เกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้ตามปกติหรือมีปัญหาในการขับปัสสาวะ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่รู้สึกตัวหรือไม่สามารถลุกมาทำธุระส่วนตัวเองได้ หรือผู้ป่วยหลังการผ่าตัดที่ต้องมีการใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อประเมินการทำงานของไต เป็นต้น จึงต้องมีการใส่สายสวนปัสสาวะ ซึ่งเป็นการสอดใส่สายสวนปัสสาวะที่ปลอดเชื้อเข้าไปคาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะผ่านทางรูเปิดของท่อปัสสาวะ เพื่อให้ปัสสาวะไหลออกจากกระเพาะปัสสาวะ ลงสู่ถุงปัสสาวะที่เป็นระบบปิด

 

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยจากการคาสายสวนปัสสาวะ

  • การใส่สายสวนปัสสาวะซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกายอาจทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดอาการเจ็บหรือปวดระบบทางเดินปัสสาวะหรือบริเวณใต้สะดือได้
  • การใส่สายสวนปัสสาวะจะทำให้การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยทำได้อย่างจำกัด เพราะต้องระวังการไปกดทับสายสวนฯ จึงอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว อ่อนล้า และอ่อนเพลีย
  • สายสวนปัสสาวะอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อโรคจากภายนอกผ่านเข้าสู่ร่างกาย และทำให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้

 

การดูแลผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะ

ในการดูแลตัวผู้ป่วยและการดูแลสายสวนปัสสาวะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสำหรับผู้ป่วยที่มีการใส่สายสวนปัสสาวะจะต้องระมัดระวังในการป้องกันไม่ให้เกิดการอุดตันของสายสวนปัสสาวะ และในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลไม่ให้เกิดการติดเชื้อขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะอีกด้วย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีการคาสายปัสสาวะหรือผู้ที่มีความจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด

  1. ต้องไม่ลืมล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังการดูแลทำความสะอาดหรือการไปสัมผัสสายสวนปัสสาวะ ถุงรองรับปัสสาวะ และสวมใส่ถุงมือทุกครั้งเมื่อต้องมีการสัมผัสปัสสาวะของผู้ป่วย
  2. สำหรับการยึดตรงสวยสวนปัสสาวะ ในผู้ชายควรยึดตรึงสายไว้ให้เหนือขาหนีบ ส่วนในผู้หญิงให้ยึดตรึงไว้บริเวณหน้าขา โดยการยึดตรึงจะใช้พลาสเตอร์ยึดสายสวนให้ติดกับผิวหนัง และต้องระวังไม่ให้สายตึงจนเกินไป
  3. ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสะอาดประมาณวันละ 2,500-3,000 ซีซี (ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยต้องมีการจำกัดปริมาณน้ำที่ได้รับ) และงดดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลม เพราะน้ำเหล่านี้มีส่วนประกอบของคาเฟอีนและมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
  4. ดูแลให้สายสวนปัสสาวะและถุงใส่ปัสสาวะอยู่ในระบบปิดตลอดเวลา ต้องไม่ให้มีรอยแตก และการรั่วซึม เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
  5. ดูแลให้ถุงปัสสาวะอยู่ต่ำกว่ากระเพาะปัสสาวะตลอดเวลาและถุงห้ามสัมผัสกับพื้น รวมถึงเมื่อมีการถ่ายปัสสาวะออกจากถุงห้ามให้ปลายท่อสัมผัสกับปากขวดหรือภาชนะที่รองรับปัสสาวะเด็ดขาด
  6. ดูแลให้ปัสสาวะไหลดี โดยระวังไม่ให้สายสวนปัสสาวะ บิด พับงอ และบีบรีดสายสวนเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตะกอนหรือลิ่มเลือดอุดกั้นอยู่ภายในสายยาง โดยใช้มือข้างหนึ่งจับสายยางให้อยู่กับที่ ขณะที่มืออีกข้างบีบรีดสายยางออกจากตัวผู้ป่วย
  7. เทน้ำปัสสาวะทิ้งเมื่อมีปริมาณราว 1,000 ซีซี หรือทุก ๆ 3 ชั่วโมงหรือมีปริมาณ 3 ใน 4 ของถุงเพื่อให้น้ำปัสสาวะไหลได้สะดวกและไม่ไหลย้อนกลับ โดยในการเทน้ำปัสสาวะ มีขั้นตอนดังนี้
    • ล้างมือให้สะอาดหรือล้างมือแล้วใส่ถุงมือที่สะอาด
    • ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% แล้วเช็ดตรงบริเวณปลายท่อของถุงเก็บปัสสาวะ
    • เทน้ำปัสสาวะลงในภาชนะที่เตรียมไว้
    • ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% แล้วเช็ดตรงบริเวณปลายท่อของถุงเก็บปัสสาวะอีกครั้งก่อนปิดปลายท่อ
    • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังทำ
  8. ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และรูเปิดของท่อปัสสาวะอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งและเมื่อสกปรก
  9. เปลี่ยนสายสวนปัสสาวะใหม่ทุก ๆ 2 สัปดาห์-1 เดือน ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนถุงปัสสาวะ ให้เปลี่ยนเมื่อเริ่มสังเกตเห็นว่าถุงเริ่มสกปรก

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการใส่สายสวนปัสสาวะ

ภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใส่สายสวนฯ เพื่อระบายปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน คือ เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยมีอาการที่สังเกตได้เหล่านี้

  • มีไข้
  • ปัสสาวะมีสีขุ่นหรือมีการตกตะกอน
  • ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนผิดปกติ
  • อาจมีปัสสาวะเป็นเลือดร่วมด้วย

และนอกเหนือจากนี้ผู้ป่วยอาจเกิดอาการระคายเคืองจากการดึงรั้งของสายสวนปัสสาวะทำให้เกิดอาการเจ็บและปวดบริเวณที่มีการเดินสายสวนปัสสาวะและอาจมีเลือดผสมปัสสาวะด้วยก็ได้ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันทีเพื่อประเมินอาการและทำการรักษา