หลายท่านอาจเคยได้ยินว่าหากผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวกและต้องนอนติดเตียงเป็นเวลานานอาจเสี่ยงเป็นแผลกดทับได้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าแผลกดทับมีอาการอย่างไรและแตกต่างจากแผลทั่วไปอย่างไร วันนี้อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่งโฮมมีคำตอบมาฝาก รวมถึงยังมีคำแนะนำสำหรับวิธีการดูแลผู้ป่วยแผลกดทับอย่างถูกต้องและเหมาะสมอีกด้วย

แผลกดทับ คืออะไร 

แผลกดทับ คือ อาการบาดเจ็บหรือแผลที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง มีสาเหตุมาจากการที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อในบริเวณนั้นถูกกดทับมาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยหรือเคลื่อนไหวร่างกายเองไม่ได้เลย อย่างผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยที่ใช้วีลแชร์ที่ป่วยมาเป็นระยะเวลานาน เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยเหล่านี้ และหากเป็นขั้นรุนแรงอาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย

โดยแผลกดทับสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายส่วนของร่างกายที่ถูกกด ถูกทับ หรือเสียดสีเป็นเวลานาน ตำแหน่งที่เกิดแผลกดทับส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่ติดอยู่กับกระดูก เช่น หลังศีรษะและหู สะบัก หัวไหล่ หลังส่วนล่างและก้น ข้อศอก และข้อเท้า เป็นต้น

ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเป็นแผลกดทับ

  1. กลุ่มผู้ป่วยที่นอนติดเตียงที่ไม่สามารถขยับร่างกายตัวเองได้เลย
  2. กลุ่มผู้ป่วยที่ขยับร่างกายได้ลำบากอาจมีสาเหตุจากโรคหรืออุบัติเหตุ เช่น ผู้ป่วยแขนขาอ่อนแรง หรือผู้ป่วยกระดูกหักทำให้เคลื่อนไหวได้น้อย
  3. กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน
  4. กลุ่มผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคขาดน้ำหรือขาดสารอาหาร ทำให้ผิวหนังบาง
  5. กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่จากอาการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ เพราะความชื้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลกดทับ

อาการของแผลกดทับ

อาการของแผลกดทับมี 4 ระดับด้วยกันเรียงตามระดับความรุนแรงของอาการ ได้แก่

  • ระดับที่ 1 เป็นระดับที่เริ่มปรากฏเป็นรอยแดง หรือรอยช้ำบนผิวหนังโดยเมื่อกดลงไปบนแผลรอยแดงหรือรอยช้ำจะไม่จางหายไป บริเวณผิวหนังจะยังไม่มีการฉีกขาด ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเจ็บและระคายเคือง
  • ระดับที่ 2 เป็นระดับที่ผิวหนังเริ่มมีการเปิดออกและแผลเป็นหนองพุพอง เนื่องจากหนังกำพร้าบางส่วนและหนังแท้ถูกทำลาย ในระยะผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บที่แผลมากขึ้น
  • ระดับที่ 3 เป็นระดับที่แผลที่ถูกกดทับจะมีลักษณะเป็นโพรงลึก ซึ่งอาจเห็นไขมันที่แผล เนื่องจากผิวหนังทั้งหมดหลุดออกไป รวมทั้งเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไปในชั้นผิวหนังถูกทำลาย
  • ระดับที่ 4 เป็นระยะที่ร้ายแรงที่สุดของแผลกดทับ โดยผิวหนังถูกทำลายอย่างรุนแรง รวมทั้งมีอาการเนื้อเยื่อตายเฉพาะส่วน (Tissue Necrosis) ร่วมด้วย และรุนแรงถึงขั้นที่กล้ามเนื้อและกระดูกที่อยู่ลึกลงไปอาจถูกทำลายด้วย

วิธีการดูแลรักษาแผลกดทับอย่างถูกต้องเหมาะสม

วิธีการดูแลรักษาแผลกดทับสามารถทำได้หลายวิธี รวมถึงต้องใช้หลากหลายวิธีควบคู่กันเพื่อรักษาอาการแผลกดทับที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำการรักษาโดยพิจารณาที่ระดับความรุนแรงของแผลและสาเหตุของการเกิดแผลกดทับเป็นหลัก

1. การเปลี่ยนและจัดท่าทางของผู้ป่วย

เนื่องจากสาเหตุหลักในการเกิดแผลกดทับ คือ การที่เกิดการกดทับบริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นเวลานาน ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้เลยจึงมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดแผลกดทับได้ ดังนั้นในผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้เลย ผู้ดูแลควรจัดเปลี่ยนท่าทางของผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้มีการกดทับในบริเวณใดมากเกินไป อาจสลับกันระหว่างนอนหงายและนอนตะแคง ประมาณ 30-45 องศา และใช้หมอนใบเล็กรองบริเวณปุ่มกระดูกที่อาจเกิดการกดทับอีก สำหรับผู้ป่วยที่ใช้วีลแชร์เองก็ควรมีการจัดเปลี่ยนท่าทางทุก ๆ 1 ชั่วโมง

2. การดูและทำความสะอาดแผล

แผลกดทับทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายยิ่งขึ้น จึงต้องมีการทำความสะอาดแผลเป็นประจำเพื่อกำจัดสิ่งสกปรก และแบคทีเรียที่อยู่บนพื้นแผล มีวิธีการทำความสะอาดจะแบ่งตามระดับความรุนแรงของแผลกดทับ สำหรับแผลกดทับที่ไม่รุนแรงสามารถใช้น้ำเกลือเช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบแผลและดูแลความสะอาดของแผล สำหรับแผลที่เป็นโพรงลึกต้องใช้การฉีดล้างโดยใช้กระบอกฉีดยาบรรจุน้ำเกลือฉีดล้างทำความสะอาดแผล 2-3 ครั้ง หรือจนกว่าน้ำเกลือจะใส โดยการปิดแผลนั้นจะประเมินตามลักษณะของแผล ได้แก่ พื้นแผล เนื้อตาย ของแผล และภาวะติดเชื้อ เพื่อเลือกวัสดุปิดแผลที่เหมาะสม หรือในบางกรณีอาจต้องเปิดแผลไว้ และขอแนะนำว่าสำหรับผู้ที่มีแผลกดทับ เป็นแผลลึก แผลมีกลิ่นเหม็น หรือแผลมีหนองไหล ควรรับการรักษาในสถานพยาบาลเพื่อรับการดูแลและรักษาที่เหมาะสม

3. การใช้อุปกรณ์ลดแรงกด

การลดแรงกดบริเวณที่เกิดแผลกดทับจะช่วยให้บาดแผลของผู้ป่วยสมานได้เร็วขึ้น โดยสามารถใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยลดแรงกดได้ เช่น ฟูกชนิดพิเศษ เตียงลม แผ่นโฟมลดแรงเสียดสีและกดทับ และสามารถใช้หมอนสอดคั่นระหว่างเข่าและขาทั้งสองข้างเพื่อป้องกันการเสียดสีและแรงกดทับระหว่างปุ่มกระดูก และอีกบริเวณที่ควรใช้หมอนหรือผ้ารองให้เหนือจากพื้นผิวเตียง คือ บริเวณส้นเท้า

4. การดูแลด้านโภชนาการ

ควรมีการดูแลให้ผู้ป่วยได้รับคุณค่าทางโภชนาอย่างครบถ้วน ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ และไขมันชนิดดี รวมถึงการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่มี

  • โปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไข่ นม ถั่ว และผลิตภัณฑ์จากถั่ว
  • วิตามินซี เช่น ฝรั่ง ส้มโอ มะขามป้อม บล็อคโคลี สับปะรด
  • วิตามินเอ เช่น ปลา ผักใบเขียว แครอท มันม่วง
  • แร่ธาตุสังกะสี ซึ่งพบมากในปลา อาหารทะเล เนื้อแดง และถั่วเปลือกแข็ง
  • แร่ธาตุเหล็ก ซึ่งพบมากในปลา ผักบุ้ง ผักโขม ผักคะน้า ไข่แดง

เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวและสมานแผลได้ดี นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยติดเตียงเป็นโรคขาดสารอาหารและขาดน้ำ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นแผลกดทับอีกด้วย