การให้อาหารทางเส้นเลือดหรือให้อาหารผ่านทางหลอดเลือดดำ (Parenteral Nutrition) เป็นวิธีการรักษาด้านโภชนาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารตามปกติและไม่สามารถรับสารอาหารได้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้จึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการอื่น อย่างการให้อาหารทางเส้นเลือดมาใช้แทน แต่อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารผ่านทางช่องทางปกติก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดเสมอ

การให้อาหารผ่านทางเส้นเลือดหรือหลอดเลือดดำ ส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ในผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะ ลำคอ กระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือทางเดินอาหารส่วนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเพราะอาการของโรคหรือการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยที่สายให้สารอาหาร อาจถูกต่อเข้ากับเส้นเลือดดำเข้าสู่บริเวณหน้าอกหรือต้นแขนโดยทีมแพทย์ เพื่อใช้สำหรับการให้อาหารในระยะสั้น หลังจากที่มีการสอดสายยางแล้ว ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจอาการติดเชื้อหรือตรวจอาการเลือดออกบริเวณที่สอดสายยางอยู่เสมอและควรงดยาบางประเภทที่ให้โดยการฉีดเข้าเส้นเลือด นอกจากนี้การให้ยาและสารบางประเภทอาจไม่ปลอดภัยเมื่อมีการผสมกับสารอาหารที่ให้ผ่านทางเส้นเลือด ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการผสมยาหรือสารอื่นๆ ทุกครั้ง

 

การให้อาหารผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือดดำเหมาะกับผู้ป่วยประเภทใด

การให้อาหารทางหลอดเลือดดำเป็นการให้สารอาหารเข้าสู่ระบบเลือดโดยตรงโดยไม่ผ่านระบบการย่อยอาหารจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้ทำงานผิดปกติเรื้อรัง (โดยอาจมีสาเหตุมาจากมะเร็งที่มีระยะลุกลามหรือสาเหตุอื่น ๆ)
  • ผู้ป่วยที่มีรูรั่วในกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร
  • ผู้ป่วยที่กระเพาะอาหารและลำไส้ถูกตัดออกไปหรือไม่สามารถทำงานได้ 
  • ผู้ป่วยบางกลุ่มที่แพทย์ต้องการที่จะให้พักลำไส้ในระยะเวลาที่ยาวนานอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป
  • ผู้ป่วยที่ไม่สามารถดื่มหรือกินอาหารได้เป็นเวลานานกว่า 5 วันหรือมีความเสี่ยงของการขาดสารอาหารในระดับปานกลางขึ้นไป

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับผู้ป่วยที่ให้อาหารทางเส้นเลือด

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยที่ให้อาหารทางหลอดเลือด มีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • เกิดก้อนแข็งตัวของเลือด
  • ภาวะปอดล้มเหลว
  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป
  • ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
  • ระดับเอนไซม์ของตับมีค่าสูงขึ้น

เพราะการให้อาหารทางเส้นเลือดนั้นมีความเสี่ยงสูง ผู้ป่วยที่มีการให้อาหารทางหลอดเลือดดำจึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนทักษะในด้านนี้มาแล้ว และถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่มีการให้อาหารผ่านทางเส้นเลือดจะได้รับการอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว แต่ทั้งผู้ป่วย 

และผู้ดูแลจะต้องได้รับการฝึกฝนการใช้สายยาง ปั๊ม และการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ที่พักของผู้ป่วยจะต้องสะอาด และตัวผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจโดยทีมผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำ

 

การยกเลิกการให้อาหารทางเส้นเลือดต้องทำอย่างไร

การให้อาหารทางเส้นเลือดหรือให้อาหารทางหลอดเลือดดำ มีผลกระทบที่รุนแรงและอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง การถอดหรือการยกเลิกการให้อาหารทางเส้นเลือดก็เช่นเดียวกัน จึงควรดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีประสบการณ์ในการถอด/ยกเลิกอุปกรณ์การให้อาหารทางหลอดเลือดดำ โดยแนวทางรักษาอาจเป็นการค่อยๆ ลดปริมาณลงก่อนจะยกเลิกและเปลี่ยนไปให้อาหารโดยวิธีอื่น เช่น การให้อาหารทางปาก หรือการใส่สายให้อาหารทางกระเพาะ เป็นต้น

 

ที่มา:

วิธีการของการรักษาด้านโภชนาการ (chulacancer.net)

การให้อาหารผ่านหลอดเลือดดำแบบให้ที่บ้าน (Home parenteral nutrition, HPN) – คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (cmu.ac.th)