มะเร็งถือเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลประคับประคองอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากไม่ได้เสียชีวิตจากการลุกลามของโรคร้าย แต่กลับเป็นการเสียชีวิตจากภาวะการขาดสารอาหาร ในทางกลับกันหากดูแลผู้ป่วยมะเร็งด้วยโภชนาการที่ถูกต้อง หมั่นดูแลประคับประคองให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่จำเป็นต้องร่างกาย ก็จะยิ่งช่วยในกระบวนการรักษามะเร็งให้ได้ผลดีขึ้น ทั้งยังทำให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูสภาพได้เร็วขึ้นด้วย

ทำไมผู้ป่วยมะเร็งจึงขาดสารอาหาร หากไม่ดูแลประคับประคองอย่างใกล้ชิด?

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งก็มีหลักการใกล้เคียงกับผู้ป่วยโรคร้ายอื่น ๆ ที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด แต่สาเหตุที่ผู้ป่วยมะเร็งมักมีภาวะขาดสารอาหารนั้นแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุด้วยกัน

  1. ร่างกายผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นต้องการพลังงานมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากเซลล์มะเร็งจะสร้างสารเคมีบางอย่างขึ้นมาเผาผลาญอาหารได้โดยเร็ว ยิ่งในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีเซลล์มะเร็งลุกลามจำนวนมากในร่างกาย ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลโภชนาการอย่างใกล้ชิด
  2. อาการเบื่ออาหารของโรคมะเร็ง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะซึมและลดความอยากอาหารลง ในขณะที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารเพื่อนำไปสร้างพลังงานมากขึ้น ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งจึงต้องหมั่นสังเกตและตรวจเช็กให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม
  3. การขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งด้วยโภชนาการนับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พบมากในช่วงหลัง เพราะมีครอบครัวหรือผู้ป่วยบางรายเลือกที่จะไม่รับประทานอาหารบางชนิดทั้งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากค้นเจอในอินเทอร์เน็ตว่าเป็นอาหารแสลงสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

อาหารที่เหมาะสมสำหรับดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่สามารถรับประทานอาหารได้ปกติ

  • อาหารประเภทแป้ง

ผู้ป่วยมะเร็งต้องการสารอาหารประเภทแป้ง เพื่อนำไปสร้างพลังงานให้กับร่างกาย ดังนั้นการดูแลประคับประคองให้ผู้ป่วยรับประทานจำพวกข้าว ข้าวกล้อง ขนมปัง และเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ให้พลังงานสูงจึงเป็นสิ่งที่ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งต้องให้ความสำคัญ

  • อาหารประเภทไขมัน

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้รับประทานอาหารจำพวก น้ำมันจากพืชชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าว จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับกรดไขมันที่จำเป็นต้องร่างกาย ทั้งร่างกายยังนำไขมันไปสร้างพลังงานเพิ่มเติมได้อีกด้วย แต่ก็ไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่ทอดจากน้ำมันมากจนเกินไป เพราะก็สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน

  • อาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือที่ให้สารอาหารโปรตีนสูง

ผู้ป่วยมะเร็งจะมีความต้องการโปรตีนเพิ่มมากกว่าคนปกติ จึงควรหมั่นดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้รับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเนื้อสัตว์มักเต็มไปสารอาหารจำพวกโปรตีน โดยเฉพาะในกลุ่มจำพวกเนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู ไข่ นมชนิดต่าง ๆ และถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น

  • อาหารประเภทผัก

ผู้ป่วยมะเร็งสามารถรับประทานผักและผลไม้ได้ตามปกติ แต่การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบ Palliative care มีสิ่งหนึ่งที่ครอบครัวและคนที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งต้องตระหนักไว้ คือไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยมะเร็งรับประทานอาหารประเภทของดอง ซึ่งรวมถึงผักดองด้วย เนื่องจากของหมักดองมีโอกาสสูงที่จะไปกระตุ้นในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้

  • อาหารประเภทเครื่องดื่ม

พยายามดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้ดื่มน้ำเปล่าสะอาดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงในกรณีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ Palliative care ที่ผู้ป่วยต้องการดื่มน้ำที่มีความสดชื่นและมีรสชาติอื่น ๆ ก็สามารถให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้และน้ำต้มผักแทนได้ และสำหรับในกรณีของการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการรักษาด้วยการฉายรังสี ผู้ป่วยจะกลืนอาหารลำบาก การให้อาหารด้วยเครื่องดื่มและอาหารปั่นก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เหมาะสมเช่นกัน

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยโภชนาการอาจเป็นได้อย่างลำบากกว่าการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะแรกเริ่ม ครอบครัวและคนที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งจึงต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากอาการของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมักจะมีอาการความอยากอาหารลดลง ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว หากไม่ดูแลประคับประคองอย่างใกล้ชิด อาการของผู้ป่วยจะยิ่งทรุดเร็วขึ้นและโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากการขาดสารอาหารก็จะมีสูงมาก

ดังนั้นการดูแลประคับประคอง หรือ Palliative care จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เน้นดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยทางด้านอารมณ์ ร่างกาย สังคม และจิตวิญญาณ พยายามเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เลือกว่าอยากจะรับประทานอาหารอะไรหรือทานเมื่อใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์และนักโภชนาการด้วย

 

แหล่งที่มา

https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-189

https://www.chulacancer.net/patient-list-page.php?id=76

https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/food-for-cancer

https://www.wattanosothcancerhospital.com/all-about-cancer/dont-be-afraid-of-cancer

 

ผู้เขียน
นพ.ปุณณภพ เอมสิริรัตน์