Ostomy  เป็นการผ่าตัดเปิดลำไส้ส่วนใดส่วนหนึ่งให้อุจจาระออกเพื่อลดแรงดันในลำไส้และระบายอุจจาระเหนือจุดอุดตันป้องกันการแตกทะลุของลำไส้ ในผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งหรือมีการอุดกั้นของลำไส้จากสาเหตุต่าง ๆ เพื่อให้อุจจาระหรือปัสสาวะสามารถขับออกจากร่างกายได้ โดยจะเรียกช่องทางออกใหม่นี้ว่า ช่องทวารเทียม และเรียกบริเวณลำไส้ที่โผล่ออกมาจากหน้าท้องว่า stoma ซึ่งทวารเทียมไม่ได้เป็นอุปกรณ์เสริมทางการแพทย์แต่อย่างใด แต่เป็นส่วนปลายของลำไส้ที่เหลือจากการผ่าตัด และเมื่อผ่าตัดเพื่อทำทวารเทียมแล้ว จะต้องมีการใส่ถุงใส่อุจจาระหน้าท้อง (Ostomy bag) หรือถุงทวารเทียม เพื่อกักเก็บเอาสิ่งต่าง ๆ ที่ออกมาจากการขับถ่ายทางทวารเทียม 

 

ทวารเทียมจะทำใน 2 ระบบ คือ ระบบทางเดินอาหาร มีทั้ง Colostomy (การทำทวารเทียมบริเวณลำไส้ใหญ่), Ileostomy (การทำทวารเทียมบริเวณลำไส้เล็ก) โดยทำหน้าที่เป็นทางออกเพื่อขับถ่ายอุจจาระ อาจเป็นแบบถาวรหรือแบบชั่วคราว ซึ่งสามารถผ่าตัดปิดทวารเทียมให้ถ่ายทางทวารหนักได้เหมือนเดิมขึ้นกับภาวะโรคของแต่ละคน อีกระบบคือระบบทางเดินปัสสาวะ Urostomy โดยทวารเทียมทำหน้าที่เป็นทางออกเพื่อขับถ่ายน้ำปัสสาวะ

 

ถึงแม้หลังการผ่าตัดใส่ทวารเทียมผู้ป่วยจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติมากขึ้น ช่วยให้หายจากอาการปวดท้อง และไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการขับถ่ายไม่ออก แต่การมีถุงใส่อุจจาระ ถุงใส่ปัสสาวะติดอยู่ตรงบริเวณหน้าท้องก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการดูแลทำความมากกว่าปกติ รวมถึงต้องยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับการใส่ถุงหน้าท้องอีกด้วย ในบทความนี้ อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่ง โฮม จึงอยากให้ความรู้กับทุกคนเกี่ยวกับการปรับตัวและดูแลตัวเองหลังจากการใส่ถุงหน้าท้อง (Ostomy Bag)

 

ประโยชน์ของการใส่ถุงหน้าท้องหรือถุงทวารเทียม

  • เพราะทวารเทียมไม่มีหูรูดเหมือนลำไส้จริงของเรา ถุงจะช่วยรองรับปัสสาวะและอุจจาระของเราได้ทันที
  • ตัวถุงช่วยปกป้องผิวหนังของลำไส้ที่ยื่นออกมาบริเวณหน้าท้อง
  • การใช้ถุงที่เป็นแบบปิดและมีความหนา ช่วยป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์และการรั่วไหลของของเสีย
  • ทำให้คนไข้สามารถดำเนินชีวิตและทำกิจวัตรประจำวันได้
  • ช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ป่วยที่เครียดและวิตกกังวลจากการผ่าตัดทำทวารเทียมได้

 

หลังผ่าตัดทวารเทียมและใส่ถุงหน้าท้องต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ถึงแม้การผ่าตัดทำทวารเทียมจะทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ แต่ยังมีบางสิ่งที่ต้องปรับตัว เพื่อไม่ให้รบกวนการทำงานของทวารเทียม และเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่นของผู้ป่วยเอง เช่น

  • การทานอาหาร: สามารถทานได้ทุกประเภท แต่แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่ก่อให้เกิดแก๊สและกลิ่น เช่น อาหารประเภทถั่ว เบียร์ น้ำอัดลม เครื่องเทศ ชะอม สะตอ หัวหอม เป็นต้น หรือสามารถเลือกรับประทานอาหาร เช่น คะน้า ตำลึง ผักบุ้ง ที่มีคุณสมบัติช่วยลดกลิ่นได้
  • การอาบน้ำ: สามารถอาบน้ำได้ตามปกติโดยใช้ถุงพลาสติกหรือถุงซิปล็อกครอบถุงทวารเทียมอีกชั้นหนึ่ง และสามารถล้างบริเวณรอบรูทวารเทียมด้วยสบู่อ่อนได้ แต่ต้องหลีกเลี่ยงการแช่น้ำในอ่างหรือลงไปเล่นน้ำในแม่น้ำลำคลอง
  • การนอน: ควรเทของเสียออกก่อนนอน และไม่นอนคว่ำเป็นระยะเวลานาน เพื่อลดการกดทับต่อทวารเทียมและถุงรองรับของเสีย
  • การแต่งกาย: สามารถแต่งกายได้ตามชอบ เพียงแต่ต้องไม่กดทับทวารเทียมและไม่ควรจะเสียดสีกับถุงใส่อุจจาระหน้าท้องด้วย จึงแนะนำว่าให้ใช้กางเกงในที่มีขอบเอวอยู่ใต้ถุงรองรับสิ่งขับถ่ายจะดีที่สุด
  • การออกกำลังกาย: 4-6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถเล่นกีฬาได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬาบางประเภทที่จะเพิ่มแรงดันภายในช่องท้อง เช่น การยกน้ำหนัก เพราะอาจทำให้เกิดไส้เลื่อนทวารเทียมได้
  • การมีเพศสัมพันธ์: แพทย์จากศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ให้ข้อมูลว่า การมีทวารเทียม ไม่ได้ลดความต้องการทางเพศ ท่านสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่สิ่งที่ควรทำก่อนการมีเพศสัมพันธ์ คือ การระบายอุจจาระออกจากถุงรองรับ และเพิ่มความระมัดระวังในบางท่าทางที่อาจจะกระทบกับทวารเทียม และยังสามารถมีบุตรได้โดยทำการปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์

 

ที่มา:

https://thaicancersociety.com/living-with-ostomy/

https://www.nci.go.th/th/Knowledge/dsc/download/ทวารใหม่(Ostomy).pdf

ความรู้สำหรับประชาชน :: หน่วยสารสนเทศมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (psu.ac.th)

https://www.chulabhornchannel.com/health-articles/2023/01/การดูแลตนเองหลังจากมีท/